30 พฤษภาคม 2560

27 คำคมที่จะช่วย “เปลี่ยนวิธีคิด(mindset)” ของคุณ เมื่อพบเจอสารพัดปัญหา

27 คำคมที่จะช่วย “เปลี่ยนวิธีคิด(mindset)” ของคุณ เมื่อพบเจอสารพัดปัญหา

แม้แต่นักธุรกิจที่มากประสบการณ์ต่างก็ยังต้องพบเจอกับปัญหา ในขณะที่งานชิ้นล่าสุดของคุณกำลังไปได้สวย ในขณะที่คุณเจอกับความท้าทายใหม่ๆ และเห็นแสงแห่งความสำเร็จอยู่ตรงหน้า แต่บางครั้งทุกอย่างก็กลับหยุดชะงักลงได้เมื่อคุณเจอกับปัญหาที่ดูเหมือนจะไม่มีทางออก
จริงที่ว่าอุปสรรคมักจะทำให้เราท้อแท้ และเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เสียด้วย แต่วิธีที่คุณใช้ในการเผชิญหน้าและคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาต่างหาก ที่จะช่วยเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาให้กับคุณ

นี่คือสิ่งที่เหล่าบุคคลที่ขึ้นชื่อว่าฉลาดที่สุดในโลกต่างใช้ในการคิดแก้ปัญหา รวมถึงวิธีการที่คุณจะใช้ในการเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นด้วย

“ปัญหาที่เราสร้างขึ้นไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีการคิดแบบเดิมๆ” – อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
“ปัญหามิใช่จุดจบ แต่มันคือการนำทาง” – โรเบิร์ต เอช สชัลเลอร์ (Robert H. Shuller)
“ปัญหาจะเล็กลง ถ้าเราเลือกที่จะเผชิญหน้าแทนที่จะเลี่ยงหนี” – วิลเลี่ยม เอฟ ฮัลสรีย์ (William F. Halsey)
“ไม่ใช่ทุกอย่างที่เจอจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้จนกว่าจะเจอ” – เจมส์ บัลด์วิน (James Baldwin)
“บางปัญหาไม่ต้องการทางออก แต่ต้องการเพียงแค่วุฒิภาวะในการข้ามผ่าน” – สตีฟ มาลาโบลี่ (Steve Maraboli)
“ทุกปัญหาคือรางวัล ไม่มีมัน เราก็จะไม่โต” – โทนี่ ร็อบบินส์ (Tony Robbins)
“ชีวิตไม่ใช่ปัญหา แต่คือความเป็นจริงที่ต้องเผชิญ” – เซอเรน เคียร์เคอกอร์ (Soren Kierkegaard)
“ถ้าแก้ปัญหาได้ จำเป็นต้องกังวลไปเสียทำไม และถ้าแก้ไม่ได้ แล้วกังวลไปจะได้อะไร” – ศานติเทวะ (Shantideva)
“ปัญหาไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่อยู่ที่เราจะมองมันออกหรือไม่ต่างหาก” – จี เค เชสเตอร์ตัน (G.K Chesterton)
“ปัญหาเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์” – เจอฮาร์ด จชวานท์เนอร์ (Gerhard Gschwandtner)
“เรามักจะล้มเหลวอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็เพราะเราแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด มากกว่าการแก้ผิดวิธีแต่ปัญหานั้นถูก” – รัซเซล แอล แอคออฟ (Russell L. Ackoff)
“ทัศนคติที่ดีแม้จะไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่มันกลับช่วยให้คุณมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้ได้” –Anonymous
“ยิ่งหนีปัญหาก็ยิ่งไกลจากทางออก” – Anonymous
“ผู้นำในการแก้ปัญหามักจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือการศรัทธาว่ามันจะต้องมีทางออกที่ดีกว่านี้เสมอ” – เจอราล์ด เอ็ม เวนเบิร์ก (Gerald M. Weinberg)
“แต่ละปัญหาที่ถูกแก้จะกลายเป็นกฏซึ่งจะกลายเป็นทางออกสำหรับปัญหาต่อๆไป” – เรน เดสคาส (Rene Descartes)
“ความสามารถในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่ดี คือตัวชี้วัดศักยภาพความเป็นผู้นำในตัวคุณ” – ไบรอัน เทรซี่ (Brian Tracy)
“ถ้าไม่สามารถเข้าใจต้นต่อของปัญหาได้ ก็ไม่มีทางแก้ไขได้เหมือนกัน” – นาโอโตะ คาน (Naoto Kan)
“ปัญหาคือโอกาสที่จะแสดงความสามารถของตัวคุณอย่างเต็มประสิทธิภาพ” – ดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington)
“การยอมแพ้ คือ ทางที่เจ็บปวดที่สุดของการแก้ปัญหา” – Anonymous
“แทนที่จะคิดนอกกรอบ จงเอากรอบนั้นออกแทน” – ดีพัค โชพรา (Deepak Chopra)
“การแก้ปัญหา คือ การรับฟัง” – ริชชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson)
“ทุกปัญหาย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ” – โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert Kiyosaki)
“ไม่มีปัญหาใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าพลังในตัวคุณ” – บ็อบ พร้อคเตอร์ (Bob Proctor)
“ทักษะในการแก้ปัญหา พัฒนาได้โดยเพิ่มความสามารถในการถามตอบ” – มิชเชล เจ เกลป์ (Michael J. Gelb)
“อย่าพยายามขอความช่วยเหลือโดยไม่คิดจะลงมือแก้ด้วยตัวเองเสียก่อน” – คอลิน พาวเวล (Colin Powell)
“ถ้าปัญหาแก้ได้ เดี๋ยวมันก็จะแก้ได้เอง แต่ถ้ามันแก้ไม่ได้ ก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะต้องไปกังวล” – ดาไล ลามะ องค์ที่ 16 (Dalai Lama XIV)
“ชีวิต คือ การแก้ปัญหา” – คาร์ล พ้อพเปอร์ (Karl Popper)

Source: Entrepreneur

27 พฤษภาคม 2560

7 วิธี ที่จะทำให้คุณเลิกเป็นคน ฟุ้งซ่าน คิดมาก ขี้กังวล

แน่นอนว่าตัวคุณเองรู้อยู่แล้ว ว่าการใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกแซนด์วิชชิ้นไหนเป็นอาหารกลางวันเป็นเรื่องไร้เหตุผล เช่นเดียวกับการใช้เวลานับสัปดาห์เพื่อตัดสินใจว่าจะรับข้อเสนองานชิ้นนี้ดีไหม? หรือใช้เวลาหนึ่งปีเพื่อคิดว่าจะแต่งงานกับแฟนคนนี้ดีรึเปล่า?
คุณอาจจะคิดว่า “พอได้แล้วน่า…ตัดสินใจซะทีเถอะ” แต่พอผ่านไปแค่ไม่กี่นาที ความลังเลและหวั่นวิตกก็เริ่มจู่โจมเข้ามาเรื่อยๆ แม้คุณจะพยายามสร้างภูมิคุ้มกันความรู้สึกเหล่านี้บ้างแล้วก็ตาม
ทุกคนคงเคยผ่านสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว และมีวิธีรับมือที่ต่างกันออกไป ซึ่งจากเว็บไซต์ Quora ที่มีคนไปตั้งคำถามว่า “ฉันควรแก้นิสัยคิดมากนี้ยังไงดี?” ซึ่งมีผู้คนมากมายที่มาแชร์วิธีของตัวเองและร่วมโหวตคำตอบที่สร้างสรรค์ที่สุด และทางเราก็ได้รวบรวมมาไว้ในเว็บ SUMREJ ให้แล้ว ต่อไปคุณจะได้รู้วิธีหยุดนิสัยนี้ได้อย่างถาวร!

1.สังเกตความคิดของตัวเอง

คิดมาก
ส่วนสำคัญที่สุดของการทำสมาธิคือ การปล่อยให้ความคิดของคุณลอยผ่านไป แทนที่จะไปยึดติดอยู่กับมันหรือพยายามที่จะหยุดคิดมัน
การฝึกสมาธิแบบเจริญสติ (Mindfulness Meditation) เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณ หยุดหมกมุ่นกับเรื่องในอดีตได้ โดยให้คุณลองสังเกตการณ์ความคิดของตัวเอง แทนที่จะลงไปหมกมุ่นอยู่กับมัน
สตีฟ จอบส์ เองก็เคยอธิบายเกี่ยวกับวิธีการเช่นเดียวกันนี้ให้ วอลเตอร์ ไอแซ็กซัน ผู้เขียนชีวประวัติของเขาฟัง ดังนี้
“ลองนั่งอยู่เฉยๆ แล้วสังเกตความคิดของตัวเองดู คุณจะรู้เลยว่าความคิดมันไร้ขอบเขตจริงๆ และเวลาที่คุณพยายามทำให้มันนิ่ง ก็มีแต่จะแย่ลงเท่านั้น แต่จิตใจของคุณจะสงบลงเองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก และเมื่อจิตใจของคุณสงบแล้วมันก็จะมีที่ว่างในการรับฟังสิ่งที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น”

2.เขียนความคิดของตัวเอง

คิดมาก
อีกวิธีนึง ที่จะช่วยหยุดความคิดฟุ้งซ่านของคุณ ก็คือ การระบายให้กับคนที่มีมุมมองวิธีคิดแตกต่างไปจากคุณได้ฟัง หรือจะใช้วิธีเขียนระบายความคิดของตัวลงไปในกระดาษแทนก็ได้ เพราะการเขียนทำให้เราคิดอย่างเป็นระบบขึ้นมาก ถ้าคุณเก็บความคิดเหล่านั้นไว้แต่ในหัว นอกจากมันจะไปสุมกันจนเป็นภูเขาเลากา มันยังทำให้คุณวนกลับมาคิดเรื่องเดิมซ้ำอยู่อย่างนั้นไม่จบสิ้น

3.กำหนดช่วงเวลาสำหรับ “การหยุดใช้ความคิด”

การกำหนดโซน “หยุดใช้ความคิด” ช่วยห้ามไม่ให้คุณหมกมุ่นกับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น การไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องยากๆ หลังเวลาสองทุ่มเพื่อไม่ให้มันมารบกวนเวลานอนหลับ
Amy Morin ซึ่งเป็นทั้งนักสังคมสงเคราะห์และนักเขียน ได้แนะนำวิธีที่ใกล้เคียงกันไว้ในคอลัมน์หนึ่งของ Psychology Today ว่าให้แบ่งเวลาไว้ประมาณ 20 นาทีต่อวัน สำหรับการสะท้อนความคิดของตัวเอง
“ภายในยี่สิบนาทีนี้ ปล่อยให้ตัวเองวิตกกังวล ครุ่นคิด ฟุ้งซ่านได้เต็มที่ตามต้องการ แล้วพอหมดเวลา ก็ให้เปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์กว่า ถ้าคุณเริ่มคิดมากนอกช่วงเวลาที่กำหนดไว้เมื่อไหร่ ก็ให้เตือนตัวเองว่า ค่อยเอาเก็บไปคิดในช่วงเวลาที่กำหนดดีกว่า”

4.เบี่ยงเบนความคิดของตัวเอง

คิดมาก
ฟังดูง่ายๆ แต่ที่จริงการจดจ่อกับสองสิ่งไปพร้อมกันนี่มันยากนะ ลองออกกำลังกายหรือเล่นเกมดูเมื่อรู้ตัวว่าตนเองกำลังคิดมาก เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอารมณ์และร่างกาย
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เห็นด้วยกับวิธีนี้ Stepher S. Ilardi ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Depression Cure กล่าวกับ Fox News ว่า วิธีแก้การคิดมากคือ ให้หากิจกรรมที่เบี่ยงเบนความสนใจของคุณ ซึ่งควรเป็น “กิจกรรมที่ใช้ทั้งร่างกาย ความคิด และการร่วมเล่นกับผู้อื่น เช่น เทนนิส หรือการเดินเที่ยวกับเพื่อนสักคน”

5.โฟกัสที่สิ่งที่ทำได้ในปัจจุบัน

อีกหนึ่งวิธีแก้นิสัยคิดมากก็คือ เลิกคิดแล้วลงมือทำ อย่าไปโฟกัสในสิ่งที่คุณต้องทำ สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ หรือแม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่ให้พุ่งความสนใจไปในที่สิ่งที่สามารถทำได้ในปัจจุบันก็พอ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม แล้วก็ลงมือทำมันซะ
Bob Migliani ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Embrace of the Chaos เขียนลงในหนังสือพิมพ์ The Huffington Post ว่า เขามักจะเปลี่ยนความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตให้กลายเป็นการกระทำที่จับต้องได้ “ทุกครั้งที่ผมเริ่มกังวลในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ผมจะลุกจากที่ที่นั่งอยู่ เดินไปที่คอมพิวเตอร์และลงมือเขียนหนังสือของผมต่อ” เขากล่าว

6.เคารพความคิดเห็นของตัวเอง

เหตุที่คุณยังคงคิดมากจนไม่ยอมตัดสินใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคุณไม่เชื่อว่าตัวเองจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้อง จงเรียนรู้ที่จะเคารพความคิดเห็นของตัวเอง ยิ่งคิดมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งลังเลในความคิดของตัวเองมากเท่านั้น

7.คุณสามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

เป็นเรื่องปกติที่จะกังวลว่าคุณเลือกงานผิด แต่งงานกับคนที่ไม่ใช่สำหรับตัวเอง หรือแม้แต่ขับรถกลับบ้านผิดทาง แต่ความผิดพลาดก็ไม่ได้นำไปสู่หายนะเสมอไป แถมยังเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นด้วย
นักข่าวชื่อดัง Kathryn Schulz เคยขึ้นไปพูดบนเวที TED Talk เธอกล่าวว่า “การตระหนักได้ว่าตัวเองทำอะไรพลาดแล้วปรับมุมมองการมองโลกใหม่ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ”
“การคิดมากมักเป็นเพราะคุณคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของคุณ เปลี่ยนแปลงไม่ได้และต้องถูกต้องเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณไม่ต้องกังวลกับความผิดพลาดเลย และให้เข้าใจไว้ว่าความคิดเห็นหรือความรู้ของคุณนั้นมันเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามกาลเวลา แล้วคุณจะรู้สึกสงบและเป็นอิสระจากภายในอย่างแท้จริง”

10 พฤษภาคม 2560

7 ขั้นตอน แปรเปลี่ยน “ความฝัน” ให้กลายเป็นจริง



 “วิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ เพราะมันทำให้ความปรารถนาของเรากลายเป็นจริงได้” — CHRIS WIDENER
หากเราตั้งคำถามว่า ความสำเร็จมีแบบแผนที่ตายตัวหรือไม่? แน่นอนว่าคำตอบคือ ใช่ ความสำเร็จมีแบบแผนของมันอยู่ ซึ่งเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จก็ล้วนทำตามแบบแผนนั้น โดยพวกเขาทำทุกวัน วันแล้ววันเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าคุณอยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จบ้าง อย่าได้รอช้า ลองทำตามขั้นตอนต่อจากนี้ แล้วความฝัน ความหวัง และความปราถนาของคุณจะแปรเปลี่ยนเป็นความจริงสักที

1. ฝันถึงมัน

ทุกความสำเร็จต่างมีจุดเริ่มต้นเดียวกันคือ ความคิดและจิตใจ คนที่ประสบความสำเร็จต่างทราบกันดีว่า ก่อนที่พวกเขาจะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะทำให้สำเร็จได้นั้น พวกเขาล้วนต่างรับรู้ถึงความสำเร็จผ่านทางความคิด พวกเขากล้าพอที่จะจินตนาการและเชื่อมั่นว่าความฝันของพวกเขาสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ดังนั้นแล้ว จงคิดและฝันให้ใหญ่เข้าไว้ อย่าให้ทัศนคติในแง่ลบมาทำให้คุณเสียความตั้งใจ คุณคือนักฝัน แต่จงจำไว้ว่าความฝันของคุณไม่ได้เป็นแค่เพียงจินตาการที่เกิดขึ้นในหัวแล้วก็หายไป แต่คือฝันที่ต้องสามารถเป็นจริงได้ จงอย่าลืมที่จะจุดประกายความฝันอย่างสม่ำเสมอ เพราะชีวิตเรานั้นสั้นเกินกว่าจะปล่อยให้ความฝันดีๆ ต้องหลุดลอยไป

2. เชื่อมั่นในสิ่งที่ฝัน

ใช่แล้ว คุณต้องฝันให้ใหญ่เข้าไว้ ฝันที่คุณไม่คิดว่ามนุษย์ตัวเล็กๆแบบคุณจะทำสำเร็จได้ แม้ความฝันเหล่านั้นจะใหญ่สักแค่ไหน เกินกำลังคุณมากเพียงใด แต่หากคุณมีความเชื่อมั่นอย่างมากล้นในฝันนั้น มุ่งมั่นทุ่มเทกับมันมากพอ และมีมิตรสหายที่พร้อมจะหยิบยื่นมือช่วยคุณ ยังไงคุณก็สามารถทำสำเร็จได้อย่างแน่นอน อย่าลืมล่ะจงเชื่อมั่นเข้าไว้!

3. มองเห็นภาพที่คุณฝัน

ผู้คนที่ประสบความสำเร็จมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือพวกเขามัก “มองเห็น” เช่น ภาพของตัวเองที่กำลังได้ขึ้นแท่นเป็น CEO หน้าใหม่ของบริษัท ภาพของตัวเองที่ได้ลงแข่งกีฬาระดับโลก หรือแม้แต่ภาพของตัวเองที่เป็นนักพูดระดับโลกกำลังกล่าวสุนทรพจน์ด้วยความมั่นใจ ไม่ว่าภาพไหนๆ ที่คุณมองเห็นตัวเองอยู่ก็ตาม จงจำไว้ว่าจิตใจและร่างกายจะทำงานผสานร่วมกันก็ต่อเมื่อคุณสามารถ “มองเห็น” ภาพฝันนั้นได้อย่างชัดเจน

4. แบ่งปันความฝัน

สิ่งหนึ่งที่ทำให้นักฝันทำได้แค่ฝันไปวันๆ ก็เพราะว่าพวกเขาเก็บความใฝ่ฝันนั้นไว้กับตัวเอง ฝันที่มีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่รับรู้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าหากคุณอยากประสบความสำเร็จ สิ่งที่คุณต้องทำคือบอกเล่าความฝันของคุณให้ผู้อื่นได้ฟัง คุณอาจมีคำถามว่าเหตุใดต้องทำเช่นนั้นด้วยล่ะ เหตุผลก็คือ การที่คุณได้แบ่งปันความฝันของคุณให้กับผู้อื่นได้รับรู้นั้น มันจะช่วยตอกย้ำให้คุณเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆว่าความฝันนั้นสามารถเป็นจริงได้ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ หากว่าคุณได้บอกเล่าความฝันของคุณให้ผู้อื่นได้รับรู้แล้ว คุณก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความฝันนั้นด้วย ไม่เช่นนั้นคุณก็จะดูเป็นคนเขลาในสายตาผู้อื่นทันทีหากว่าคุณทำฝันนั้นไม่สำเร็จ

5. วางแผนความจริง

ทุกความสำเร็จล้วนเกิดจากการวางแผนที่ดี ดังคำกล่าวที่ว่า you get what you plan for หรือแปลว่า คุณจะได้รับในสิ่งที่คุณวางแผนเอาไว้ ซึ่งคำกล่าวนี้ก็คงไม่ไกลเกินจริงไปนัก เพราะคุณต้องทุ่มเทกับมันให้มาก วางแผนและคิดอย่างรอบคอบว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ฝันคุณเป็นจริง จากนั้นจึงค่อยแบ่งแผนใหญ่ๆ ออกเป็นแผนเล็กๆที่ไม่เกินความสามารถของคุณ และสุดท้ายจึงค่อยกำหนดเวลาไว้ว่าแต่ละแผนคุณจะใช้เวลาเท่าใดในการทำให้สำเร็จ

6. ลงมือทำให้เป็นจริง

ความสำเร็จไม่มีทางเกิดขึ้นกับคุณอย่างแน่นอนหากคุณได้ละเลยขั้นตอนนี้ไป เพราะขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด ดังนั้นขั้นตอนนี้คุณต้องตั้งใจให้มาก อย่าลืมว่าเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จทุกคนล้วนทำตามความฝันของเขาอย่างเต็มที่สุดความสามารถ มีสมการๆ หนึ่งที่กล่าวว่า ‘‘งานระยะสั้น x เวลา = ความสำเร็จระยะยาว’’ หากคุณลองทำตามสมการข้างต้น โดยค่อยๆ ทำงานเล็กๆที่คุณแบ่งไว้ ลงมือทำเป็นประจำทุกวี่วัน ท้ายที่สุดแล้วฝันที่ยิ่งใหญ่ของคุณย่อมค่อยๆกลายเป็นความจริงขึ้นมา

7. สนุกไปกับมัน

เมื่อฝันของคุณเป็นจริง จงอย่าลืมที่จะสนุกไปกับความสำเร็จเหล่านั้น เช่นการให้รางวัลตัวเองที่สามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ และอย่าลืมแบ่งปันความสุขนั้นตอบแทนให้ผู้อื่นด้วย เพราะฝันของคุณจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าขาดผู้คนที่ได้หยิบยกโอกาสและกำลังใจให้กับคุณ
เมื่อทำครบทุกขั้นตอนแล้ว ให้ย้อนกลับไปทำขั้นตอนแรกใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ อย่าลืมฝันให้ใหญ่กว่าเดิมด้วยล่ะ!

06 พฤษภาคม 2560

"เรียน" อย่างไรให้ "จำ" ได้ดี







"เรียน" อย่างไรให้ "จำ" ได้ดี

สำหรับการเรียนหนังสือแล้ว "ความจำ" เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะพูดถึงเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามีผลให้ความจำดีขึ้นและเรียนรู้ได้มากขึ้น






เวลาที่เราเริ่มรับข้อมูลด้วยการฟังอย่างเดียวนั้น ความจำได้จะลดลงตามเวลา แต่ถ้าหากเราฟังไปด้วย จดไปด้วย และคิดตามไปด้วย ความจำได้จะลดลงช้ากว่าการฟังอย่างเดียว นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการที่ครูค่อย ๆ เขียนกระดาน และให้นักเรียนค่อย ๆ จดตามไปนั้น ส่งผลดีต่อความจำมากกว่าการปิ้งแผ่นใสหรือฉายไฟล์เพาเวอร์พ้อยท์ นอกจากนี้การคุยไปด้วย ตั้งคำถามให้นักเรียนได้มีโอกาสคิดตามไปด้วย ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อความจำ วิธีตรวจสอบว่านักเรียนคิดตามหรือไม่ คือ การขอให้นักเรียนตอบออกมาดัง ๆ






เทคนิคการเพิ่มความจำอีกอย่าง คือ การให้การบ้านและขอให้นักเรียนทบทวน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นความทรงจำ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญทางสมองแนะนำเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการทบทวน ดังนี้
1. ควรให้การบ้านในปริมาณที่เหมาะสม เช่น การบ้านที่ใช้เวลาทำไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
2. ควรทิ้งช่วงเวลาในการทบทวนให้เหมาะสม นักจิตวิทยาแนะนำว่า การทบทวนถี่ ๆ เกินไปจะส่งผลเสีย เพราะจิตใต้สำนึกจะคอยบอกว่า ตรงนี้รู้แล้ว ตรงนี้จำได้ ผลก็คือเราจะอ่านทบทวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
3. ขณะทบทวนให้ตั้งคำถามให้ตัวเองตอบ ตั้งคำถามเยอะ ๆ ตอบเยอะ ๆ ใช้เครื่องช่วยอย่างเช่น flashcards
4. พยายามเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ ๆ เข้ากับความรู้ที่มีอยู่เดิมจะทำให้จำได้ดีขึ้น วิธีที่จะเชื่อมโยงข้อมูลได้ดีวิธีหนึ่ง คือ การวาดแผนภาพ หรือการทำ mind map การสอนของครูก็ควรมีส่วนที่เชื่อมโยงความรู้เก่าที่สอนไปแล้วเข้ากับความรู้ใหม่ ๆ ที่กำลังจะสอนด้วย
5. การหลับหลังจากการทบทวนอย่างเต็มที่จะทำให้เซลล์สมองเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมต่อกัน เพิ่มพลังให้แก่ความจำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก




อ้างอิงภาพ : www.learningfundamentals.com


สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หากครูมีวิธีที่ทำให้นักเรียนชอบ หรือว่ารักหรือว่าหลงใหลในเนื้อหาวิชาแล้ว ครูจะพบว่านักเรียนจะเฝ้าครุ่นคิดถึงมันและจะจำได้จนไม่มีวันลืมแต่ถ้าหากครูทำให้นักเรียนรู้สึกหดหู่ เจ็บปวด หรือว่าทรมานกับเนื้อหาวิชาแล้ว ผลที่ได้จะกลับเป็นตรงกันข้ามเลยทีเดียว
สุดท้ายที่จะขอฝากไว้ตรงนี้ คือ ทัศนคติต่อการเรียนรู้ นักเรียนโดยทั่วไปจะมีทัศนคติว่าตนเองมีความสามารถในการเรียนรู้ที่จำกัด จะไม่สามารถเรียนรู้ของที่ยากเกินว่าขีดจำกัดหนึ่ง ซึ่งพวกเขาสร้างมันขึ้นมาในจิตใจ ข้อจำกัดนี้เป็นทั้งข้ออ้างและตัวขัดขวางการเรียนรู้ของนักเรียนคนนั้น ดังนั้นครูจำต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเรียนรู้ของนักเรียนให้เป็นลักษณะของการเจริญงอกงาม โดยใช้แนวคิดที่ว่า ภายใต้กลยุทธ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม ให้เวลากับการเรียนรู้อย่างเพียงพอ และใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ดี จะทำให้ความสามารถของนักเรียนค่อย ๆ เติบโตและเจริญงอกงาม จนกระทั่งสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้แม้แต่สิ่งที่ยากที่สุด แล้วจะไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับการเรียนรู้อีกต่อไป


อ่านเพิ่มเติม :
เทคนิคการเพิ่มความจำ
http://www.vox.com/2014/6/24/5824192/study-smarter-learn-better-8-tips-from-memory-researchers
ผลเสียของการทำการบ้านนานเกิน 2 ชั่วโมง
http://phys.org/news/2014-03-hours-homework-night-counterproductive.html
การหลับหลังการเรียนรู้เพิ่มพลังสมอง
http://medicalxpress.com/news/2014-06-brain-cells-memory.html#inlRlv


อ้างอิงบทความ :
http://www.vcharkarn.com/varticle/61718

04 พฤษภาคม 2560

4 วิธีที่ช่วยดึง ‘ศักยภาพอันน่าทึ่ง’ ในตัวคุณออกมา




“เราทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งศักยภาพอยู่ในตัว แต่น้อยคนนักที่จะดูแลจนมันเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้” — JOHN C. MAXWELL
คุณเคยดูฉากในการ์ตูนที่มีลูกบอลหิมะตั้งหมิ่นเหม่อยู่บนยอดเนินเขาไหม? แน่นอนว่าสักพักมันจะค่อยๆ กลิ้งลงเนิน จากช้าๆ ก็เริ่มเร็วและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  กลิ้งทับทุกอย่างที่ขวางหน้า
มีผู้คนมากมายที่เปรียบเสมือนลูกบอลหิมะบนยอดเขานั้น พวกเขาเต็มไปด้วยศักยภาพอันน่าเหลือเชื่อ แต่บ่อยครั้งที่กลับอยู่นิ่งเฉย ไม่ยอมผลักดันตัวเองลงไปซักที ศักยภาพที่อยู่ภายในตัวพวกเขาจึงสูญเปล่าเพราะไม่ถูกดึงมาใช้แม้แต่น้อย
ดังนั้น เรามาดูกันว่า 4 วิธีที่จะช่วยดึง ศักยภาพอันน่าทึ่ง ที่ซ่อนในตัวคุณออกมามีอะไรบ้าง

1. ตัดสินใจไปเลย อย่าเอาแต่ลังเล!

ยิ่งมีตัวเลือกมาก ก็ยิ่งเลือกยาก ภาวะนี้เรียกกันว่า Analysis-paralysis ซึ่งจะเกิดกับหลายๆ คนที่พอต้องเผชิญกับตัวเลือกมากมาย ก็จะชะงักไป ไม่สามารถตัดสินเลือกอะไรได้
ในตัวเราทุกคนล้วนมีเสียงที่คอยนำทางการตัดสินใจ จงสดับฟังและเชื่อในเสียงนั้น การเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างก็เหมือนการอาศัยแรงดุนให้ลูกบอลหิมะเริ่มกลิ้งลงเนินไปนั่นเอง
แม้ว่าสิ่งที่คุณเลือกอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่ถือว่าก้าวหน้ากว่าการเอาแต่นั่งจมจ่อมอยู่อย่างนั้น และจำไว้ว่าระหว่างการเดินทาง คุณก็ยังสามารถจะปรับเปลี่ยนเส้นทางหรือจุดหมายปลายทางได้ทุกเมื่อ

2. อย่าเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ในหนึ่งวัน ทุกคนมีเวลาทั้งหมด 1,440 นาทีเท่ากัน ดูเหมือนเหลือเฟือนะ แต่เราก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าเวลามันผ่านไปรวดเร็วขนาดไหน หยุดทำนั่นนิดนี่หน่อย เผลอๆ ก็เสียเวลาไปหลายสิบนาทีแล้ว ถ้าหากเราทุกคนมีเวลาในแต่ละวันเท่าๆ กันที่จะพัฒนาตนเอง แล้วเพราะอะไรบางคนจึงประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่นๆ ล่ะ?
สิ่งสำคัญนั่นก็คือ การวางแผน การทำโปรเจ็คต่างๆ มักมีความยาก และต้องอาศัยแรง เวลามากกว่าที่คิดไว้เสมอ ดังนั้นคุณควรจะวางแผนการบริหารเวลาให้รอบคอบและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ด้วย
การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพทำให้คุณสามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้เต็มที่ อุปสรรคในการทำงานก็น้อยลง หนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้ผลดีก็คือ การถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่ทำจะไปช่วยเติมเต็มศักยภาพของคุณหรือไม่? คำถามนี้จะทำให้คุณรู้ว่ามีสิ่งใดบ้างที่ใช้เวลาทำไปโดยไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง

3. รู้มูลค่าของสิ่งที่ต้องการ

จงจดจำไว้ว่าคนเรา ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ทุกครั้งที่ตัดสินใจเลือกอะไรก็ตาม คุณก็ต้องเสียสละบางสิ่งไปด้วยเสมอ เช่น บางครั้งคุณก็ต้องปฏิเสธโอกาสดีๆ มากมายเพื่อรอโอกาสที่ดีกว่า
คุณต้องยอมสูญเสียเพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้เต็มที่ไม่ว่าจะเป็นด้านมิตรภาพ ชีวิตคู่ การเลี้ยงลูก การทำงาน หรือกระทั่งงานอดิเรก นึกถึงสิ่งที่ต้องการมากที่สุดและตัดสินใจว่าสิ่งไหนบ้างที่คุณพร้อมใจยินยอมเสียสละทั้งเวลา เงิน โอกาส และความสัมพันธ์เพื่อให้มันไปสู่ความสำเร็จ การตัดสินใจจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมากหลังจากได้พูดคุยกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

4. พัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาของตัวเอง

ไม่ว่าคุณจะระมัดระวังตัวแค่ไหน ก็ยังไม่วายที่ปัญหาจะเดินทางมาเจอคุณได้ ซึ่งการจัดการกับปัญหานี่แหละที่อาจจะสามารถพัฒนาคุณ หรืออาจจะลดทอนศักยภาพในตัวคุณก็ได้ หากคุณไม่เห็นมันเป็นโอกาสในการเติบโตทางความคิดและจุดประกายศักยภาพในตัวคุณ มันก็จะกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางคุณแทนยังไงล่ะ
จงเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างสร้างสรรค์ อย่าปล่อยให้มันมาหยุดยั้งไม่ให้คุณก้าวไปข้างหน้า และค้นหาประโยชน์จากปัญหาเหล่านั้นให้พบ ความล้มเหลวมอบบทเรียนให้คุณได้มากกว่าความสำเร็จเสียอีกนะ

มาเริ่มกันเถอะ!

เรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจของศักยภาพในตัวมนุษย์คือมันสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้ด้วยตัวของมันเองขอเพียงเริ่มต้น เหมือนกับที่ต้องอาศัยแรงผลักในตอนต้นเพื่อให้ลูกบอลหิมะกลิ้งลงเนินมาเรื่อยๆ ได้ด้วยพลังงานต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหว
ลองนึกถึงผู้คนที่คุณเคารพนับถือดูสิ อะไรที่ทำให้คุณชื่นชมพวกเขา? บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขารู้ดีว่าตนเองมีศักยภาพในตัวอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ผู้คนที่มีพลังงานแบบนี้มักจะดึงดูดให้คนอยากจะเข้าใกล้และเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่พวกเขาทำ
ดังนั้นแล้ว ในวันนี้คุณเองก็เลือกได้เช่นกันว่าจะนั่งอยู่เฉยๆ บนยอดเขาเอาแต่ครุ่นคิดถึงสิ่งที่อาจทำได้ หรือ จะผลักตัวเองให้กลิ้งลงยอดเขานั้นและจัดการกับทุกๆ อุปสรรคที่ขวางทางข้างหน้าดีล่ะ?

03 พฤษภาคม 2560

25 คำคม “สร้างแรงใจในชีวิต” เพื่อช่วยคุณเริ่มต้นเช้าวันใหม่อย่างมั่นใจ!

เป็นเรื่องสำคัญที่ในทุก ๆ วัน เรามักจะให้ความสนใจต่อความคิดและวิธีคิดของเราเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเหล่าคำคมสร้างแรงบันดาลใจของคนที่ประสบความสำเร็จก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้เรามีทัศนคติที่ดีและมีวิธีคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ แถมยังสามารถสร้างแรงใจให้กับเราได้เป็นอย่างดีทีเดียว แถมไม่ได้มีประโยชน์แค่สำหรับเราเท่านั้น เพราะมันยังส่งผลดีต่อผู้คนรอบข้างด้วย ไม่ว่าจะเป็นเหล่าผู้ร่วมงาน ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง หากคุณเป็นคนที่มีแรงบันดาลใจอยู่เต็มเปี่ยมสม่ำเสมอ ผู้คนรอบข้างคุณก็จะได้รับแรงบันดาลใจเหล่านี้จากคุณด้วยเช่นกัน
ดังนั้นในทุกๆ เช้าของวันใหม่ ลองให้เหล่าคำคมเหล่านี้ เข้ามามีส่วนช่วยผลักดัน สร้างแรงใจในชีวิตคุณดูบ้าง ไม่แน่ว่าชีวิตคุณอาจเปลี่ยนไปตั้งแต่ได้ค้นพบแนวคิดใหม่ๆ จากคำคมเหล่านี้ก็ได้ และนี่ก็คือ 25 คำคม สร้างแรงใจในชีวิต เพื่อช่วยคุณเริ่มต้นเช้าวันใหม่อย่างมั่นใจ
1. ตัวฉันเพียงคนเดียวไม่อาจเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ แต่ฉันสามารถโยนก้อนหินลงไปในน้ำ เพื่อให้ผิวน้ำกระเพื่อมและขยายออกไปเรื่อยๆ ได้  แม่ชีเทเรซา (Mother Teresa)
2. โชคชะตาได้กำหนดให้คุณเป็นคนเลือกในสิ่งที่คุณต้องการจะเป็น  ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson)
3. การมีความรู้เพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ เราต้องรู้จักนำมันออกมาใช้ และการมีความตั้งใจอย่างเดียวนั้นยังน้อยไป เราต้องรู้จักลงมือทำ  เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
4. ผมขอตายไปกับความหลงใหล ดีกว่าตายไปกับความเบื่อหน่าย  วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh)
5. “จงสร้างฝันของคุณเอง มิฉะนั้นคนอื่นจะจ้างคุณให้ไปช่วยสร้างฝันของพวกเขา” — ฟาราห์ เกรย์ (Farrah Gray)

6. ถ้าฉันตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็ไม่มีใครมาหยุดฉันได้หรอก  อายน์ แรนด์ (Ayn Rand)
7. สิ่งที่ยากที่สุดคือการตัดสินใจที่จะลงมือทำ และส่วนที่เหลือก็เป็นเพียงความมุ่งมั่นเท่านั้นเอง  อะมีเลีย แอร์ฮาร์ต (Amelia Earhart)
8. โอกาสเกิดขึ้นเองไม่ได้ คุณต่างหากที่ต้องสร้างมันขึ้นมา  คริส การ์ดเนอร์ (Chris Grosser)
9. อะไรที่ดูเหมือนเป็นความยากเย็นเข็ญใจ แท้จริงแล้วย่อมแฝงไว้ด้วยสิ่งดีๆ อยู่ภายใน  ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde)
10. การได้รับแรงบันดาลใจไม่ได้ทำให้คุณเสียอะไรไปเลย แต่มันกลับช่วยบันดาลทุกสิ่งมาให้กับคุณ เมอร์เรย์ นิวแลนด์ส (Murray Newlands)
11. ฉันเชื่อว่าความสำเร็จของฉัน มาจากการที่ฉันไม่เคยสร้างข้อแก้ตัวให้กับสิ่งใด  ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingal)
12. “การมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือจุดเริ่มต้นของทุกๆ ความสำเร็จ  ครีเมนท์ สโตน (W. Clement Stone)

13. 80% ของความสำเร็จ ล้วนเกิดจากการลงมือสร้างมันขึ้นมา  วูดดี อัลเลน (Woody Allen)
14. เวลาของคุณมีจำกัด จงอย่าเสียเวลาไปกับการใช้ชีวิตในแบบของคนอื่น  สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs)
15. “คนเรามักบอกว่าแรงบันดาลใจนั้นได้รับมาไม่นานก็จางหายไป ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากการอาบน้ำนั่นแหละ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมผมถึงมักจะให้คำแนะนำเป็นประจำทุกวัน  ซิก ซิกลาร์ (Zig Ziglar)
16. “จงเริ่มจากจุดที่คุณยืนอยู่ จงใช้ในสิ่งที่คุณมี และจงทำในสิ่งที่คุณสามารถทำได้  อาเทอร์ แอช (Arthur Ashe)
17. “การต่อสู้ที่แท้จริง ไม่ใช่การชิงชัยที่หนึ่งเพื่อให้ได้เหรียญทอง แต่การตรากตรำสู้กับตัวคุณเองต่างหากล่ะ การต่อสู้กับจิตใจของคุณเอง นั่นแหละที่เป็นสถานที่ต่อสู้อันแท้จริง — เจสซี่ โอเว่นส์ (Jesse Owens)
18. ”คุณอาจจะรู้สึกผิดหวังเวลาที่คุณนั้นล้มเหลว แต่คุณจะรู้สึกสูญสิ้นทุกสิ่ง เวลาที่คุณไม่ได้ลงมือทำมัน  เบเวอร์รี่ ซิลส์ (Beverly Sills)
19. “คุณจะไม่มีวันก้าวข้ามมหาสมุทรไปได้เลย หากคุณไม่กล้าที่จะละสายตาออกจากชายฝั่ง  คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)
20. “ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ เพราะคำมันก็บอกเองอยู่แล้วว่า Im possible!  ออเดรย์ เฮปเบิร์น(Audrey Hepburn)
21. “ผมค้นพบว่ายิ่งผมทำงานหนักมากขึ้นเท่าไหร่ ผมยิ่งโชคดีมากขึ้นเท่านั้น  ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)
22. ความสำเร็จ คือผลรวมของความพยายามเล็กๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นประจำทุกวัน — โรเบิร์ต คอลลีเออร์ (Robert Collier)
23. “ความกล้าหาญ ไม่ใช่การไร้ซึ่งความกลัว แต่คือการต่อสู้กับมันและพยายามอยู่เหนือมันให้ได้ มาร์ก ทเวน (Mark Twain)
24. “ที่เดียวที่คุณจะพบว่า ความสำเร็จมาก่อนการลงมือทำ ก็คือในพจนานุกรม — วิดัล แซสซูน (Vidal Sassoon)
25. เมื่อใดที่ฉันกล้าที่จะเป็นคนมั่นใจ และกล้าที่จะใช้ความเข้มแข็งเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของฉัน เมื่อนั้นคำว่า ฉันกลัว ก็ค่อยๆ ลดหลั่นความสำคัญลง  ออเดร์ ลอร์ด (Audre Lorde)

Source : Entrepreneur