31 สิงหาคม 2559

พฤติกรรมที่จะทำให้คุณจะเสียใจเมื่อก้าวเข้าสู่วัย 30


บางครั้งการเรียนรู้ประสบการณ์ก็ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเองเสมอไป เราสามารถเรียนรู้บทเรียนชีวิตสำคัญได้จากการเห็นชีวิตคนอื่นและตัวเลข 30 ถือเป็นเลขที่กำลังดีไม่เด็กและไม่แก่จนเกินไป ไม่ว่าคุณกำลังจะอายุครบ 30 หรือเด็กกว่านั้น เราก็สามารถค้นพบบทเรียนชีวิตได้ว่าเรื่องไหนที่เป็นข้อผิดพลาดของคนวัยนี้ และคุณจะได้ไม่ทำตามและมานั่งเสียใจในภายหลัง

1. กังวลมากไปว่าคนอื่นจะมองคุณอย่างไร
ตั้งแต่ตอนเรียนเรื่อยมาจนทำงานไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุใด คนเรามักจะมีความกังวลว่าสังคมจะมองเราเป็นอย่างไร และยิ่งเมื่ออายุของคุณก้าวเข้าสู่เลข 3 คุณจะรู้สึกได้ถึงแรงกดดันทางสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คุณอาจกังวลว่าคุณยังไม่มีอาชีพการงานที่มั่นคง ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง หรือควรจะแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาได้แล้ว แต่อย่าให้สิ่งคนนั้นคนนี้คาดหวังจากคุณทำให้คุณไขว้เขว อย่าคิดมากหากสิ่งที่คุณทำไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของสังคมแบบที่ใครๆ เขาทำกัน อย่างไรก็ตามคุณควรจะคิดได้แล้วว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรก็ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคุณคิดและทำตัวอย่างไรต่างหาก คำถามที่คุณต้องตอบตัวเองให้ได้คือ คุณมีความเป็นตัวของตัวเองมีคุณสมบัติเป็นผู้ใหญ่เพียงพอสมกับที่จะอายุ 30 แล้วหรือยัง

2. ไม่ค่อยได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่
หนุ่มสาวยุคใหม่มักจะมีแต่เรื่องงานอยู่ในหัวจนลืมหรือละเลยคนสำคัญในครอบครัวอย่างพ่อแม่ของเรา อย่ามัวกังวลแต่เรื่องงาน หาเวลาทำกิจกรรมกับพวกท่านบ้าง เช่นการไปเที่ยวพักผ่อน ออกไปทานข้าวนอกบ้าน หรือโทรหาท่านบ่อยๆ พ่อแม่อยู่กับเราไม่ได้ทั้งชีวิต อย่ารอให้พวกท่านแก่เฒ่ากว่านี้ค่อยเห็นความสำคัญ ใช้เวลาที่มีอยู่ดูแลพวกท่านให้ดี

3. ให้ความสำคัญแต่เรื่องงาน
บางคนคิดว่าต้องให้ความสำคัญกับเรื่องงานเป็นอันดับแรกในชีวิต แต่อย่าลืมว่าถึงแม้งานจะสำคัญต่อความมั่นคงในอนาคต แต่ชีวิตคนเรายังมีอีกหลายสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่าลืมดูแลคนสำคัญใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรักของคุณ อย่าทำให้พวกเขารู้สึกถูกทอดทิ้ง

4. จมอยู่กับความคิดแง่ลบเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์
การที่คุณอายุจะ 30 คุณจะเข้าใจดีว่าสิ่งร้ายๆ หรือคนแย่ๆ ไม่ได้หายไปจากชีวิตคุณ กลับกันคุณจะเข้าใจสัจธรรมข้อนี้ได้ดียิ่งขึ้นและรู้ว่าไม่ควรเสียเวลากับสิ่งไม่ดีเหล่านั้น ชีวิตคนเราอาจมีขาลง ถูกตำหนิ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือนินทาว่าร้าย คุณต้องเรียนรู้ที่ปล่อยวางบ้าง และควรอยู่ให้ห่างไกลจากคนที่ทำให้ชีวิตคุณไม่ดีและให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของคุณมีความสุขแทน

5. คิดว่าอายุ 30 นั้นแก่
หากคุณชอบใช้ข้ออ้างในการไม่ทำอะไรซักอย่าง ด้วยการบอกว่าคุณแก่เกินไป เลิกข้ออ้างนั้นซะ ถึงจะอายุ 30 40 หรือ 50 คนเราสามารถเริ่มต้น เรียนรู้เรื่องใหม่ๆได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม

6. ไม่ให้ความสำคัญกับตัวเอง
ยิ่งคนเราแก่ลงสุขภาพยิ่งเสื่อมถอยลงเป็นเรื่องธรรมดา ถึงวัย 30 จะไม่ใช่วัยที่ถือว่าแก่เสียทีเดียว แต่การหันมาดูแลสุขภาพตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ บางทีชีวิตคนเราก็มีสิ่งต่างๆ ให้สนใจมากมายจนทำให้ลืมนึกถึงตัวเอง ถ้าคุณหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต คุณจะมีความสุขมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
 
7. ไม่แสวงหาโอกาส
คนเราบางคนทั้งชีวิตก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน เพราะไม่เคยกล้าลองเสี่ยง กล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย หรือเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิต คนเราเกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียว ถ้าคุณอยากได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่ คุณก็ต้องกล้าลองทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิม

8. ไม่ออมเงินและลงทุน
ถ้าคุณเริ่มออมเงินเร็ว นั่นจะเป็นการการันตีความมั่นคงในวัยเกษียณได้เป็นอย่างดี ถ้าคุณยังไม่มีเงินเก็บออมเป็นก้อน หรือไม่มีการลงทุนอื่นๆ เพื่อให้เงินงอกเงย จะเริ่มต้นวันนี้ก็ยังไม่สาย

9. ไม่ท่องเที่ยวหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิต
อย่ามัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง ให้รางวัลกับตัวเองได้พักผ่อนและออกท่องเที่ยวบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศ ก็สามารถเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้ชีวิตของคุณได้เหมือนกัน รีบออกเดินทาง อย่าทำให้เรื่องอื่นกลายเป็นข้ออ้าง และทำให้คุณบ่นเสียดายตอนแก่ว่า รู้อย่างนี้ไปเที่ยวตั้งนานแล้ว


ที่มา
popsugar.com

19 สิงหาคม 2559

11 ทักษะที่คนวัย 24 ปีทุกคนควรเรียนรู้ก่อนจะสาย


11 ทักษะที่คนวัย 24 ปีทุกคนควรเรียนรู้ก่อนจะสาย

อายุ 24 ปี เป็นช่วงเวลาสุดสนุกของชีวิต เพราะเป็นวัยที่คุณเพิ่งจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมาได้เพียงไม่กี่ปี ได้รู้จักคนใหม่ๆ และได้กระโจนเข้าสู่โลกที่แท้จริง ในขณะเดียวกันมันก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะในวัย 24 ปีนั้น คุณกำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง และการตัดสินใจใดๆ ก็อาจส่งผลกับคุณไปทั้งชีวิตได้
ในเว็บไซต์ Quora ได้ตั้งคำถามว่า “ทักษะใดบ้างที่คนวัย 24 ปีทุกคนควรจะเรียนรู้?”  มีคนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “ทักษะที่คนหนุ่มสาววัย 24 ปีควรเรียนรู้ก่อนจะสายไป” ซึ่งสามารถสรุปมาได้ทั้งหมด 11 ทักษะดังต่อไปนี้

1.เป็นสุดยอดนักขาย

การขาย คือหลักการพื้นฐานของความสำเร็จในธุรกิจ ถึงแม้การขายจะไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรงของคุณ แต่คุณย่อมเกี่ยวข้องกับการขายอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการขายขณะที่ทำการตลาด ระหว่างวางแผนกับทีม การบริการลูกค้า การดูแลจัดการผลิตภัณฑ์  การประชุม การพัฒนาธุรกิจ  ฯลฯ การมีพื้นฐานการขายที่ดีจะทำให้คุณได้เปรียบเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ” — นิรนาม (Anonymous)

2.ก้าวออกมาจาก comfort zone

“ออกไปสร้างประสบการณ์จริงข้างนอกดูบ้าง ลองทำธุรกิจ พูดคุยกับผู้คน หรือไม่ก็ชวนผู้หญิงน่ารักสักคนออกเดท ไปดำน้ำ ฝึกสนทนากับคนกลุ่มใหม่จนเชี่ยวชาญ และแน่นอนว่าอย่าจริงจังมากไป จนทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ล่ะ”  — Christian Pretorius

3.เอาดีให้สุดสักทางหนึ่ง

“เอาดีให้สุดสักทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทักษะ การตัดต่อภาพ ร้องเพลง เต้นรำ ผิวปาก เพราะอย่างน้อยหากวันดีคืนดีคุณตกงาน ไม่มีบ้าน ไม่มีใครช่วยเหลือ คุณก็จะพอประทังชีวิตตัวเองไปได้ด้วยการเป็นฟรีแลนซ์จากความสามารถพิเศษเหล่านี้ (ต่อให้เป็นแค่การผิวปากก็เถอะ เพราะอย่างน้อยคุณก็สามารถไปเปิดหมวกข้างถนนขอให้คนร้องเพลงแล้วผิวปากตามดนตรีก็พอได้เงินแล้ว ไม่เชื่อก็ลองดูสิ)” — Rohit Mishra

4.สร้างเครือข่ายสังคมที่ช่วยสนับสนุนคุณ

“เราทุกคนต่างต้องการคนที่คอยช่วยเหลือและส่งเสริมเราให้ได้เจอสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโอกาส เพื่อน ไอเดีย หรือแม้กระทั่งงาน  ลองใส่ใจเรื่องการให้คุณค่ากับพวกเขามากกว่าแค่พบกันเฉยๆ ดูสิ เพราะกฎเหล็กของการสร้างเครือข่ายสังคมไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณรู้จักพวกเขากี่คน แต่คือการที่คุณได้ช่วยเหลือคนสำคัญเหล่านั้นมากแค่ไหนต่างหากล่ะ” — Christian Bonilla, ดีไซเนอร์ซอฟท์แวร์และนักเขียน

5.เรียนรู้การเขียนโค้ดโปรแกรม

“เรียนรู้การเขียนและอ่านโค้ดเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับหนุ่มสาววัย 24 ปี แม้ว่าสิ่งที่คุณเรียนมาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก็ตาม แต่อย่างน้อยรุ่นของพวกคุณก็ถนัดกับการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้กันดีกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว เพราะคุ้นเคยกับแทบเล็ต สมาร์ทโฟน หรือ อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ นานา การเรียนโค้ดโปรแกรมเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีประโยชน์ต่ออนาคตของคุณ  เพราะมันก็ไม่ต่างจากการเรียนภาษานั่นแหละ” — Maria Antsuk

6.ตกหลุมรัก
“ใช่แล้ว ตกหลุมรักนี่แหละ เพราะความรักคือความรู้สึกบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาอารมณ์ทั้งหมดทั้งปวง แล้วอะไรจะสวยงามไปกว่าความรักอีกเล่า? หากคุณไม่เคยตกหลุมรักเลย แสดงว่าคุณได้พลาดอีกหนึ่งความรู้สึกล้ำลึกของมนุษย์ไปแล้ว” — Karan Jaiswani

7.ฝึกสมาธิ

“ในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายแบบนี้ การฝึกสมาธิเป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้คุณจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นงานวิจัยพบว่าการฝึกสมาธิเพียง 20 นาทีมีผลเทียบเท่ากับการงีบหลับ 2 ชั่วโมง มันคือการบำบัดจิตที่แม้จะเสียเวลาเพียงเล็กน้อยแต่ส่งผลดีในระยะยาว การฝึกสมาธิอาจต้องใช้ความมุ่งมั่นเพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายนัก” — Sanjay Kadel

8.เที่ยวให้มากขึ้น

“ลองสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง ด้วยวิธีการออกไปท่องเที่ยวดูสิ เพราะการท่องเที่ยวจะสอนให้คุณได้เจอเรื่องราวใหม่ๆ ในชีวิต หาคุณอยู่แถบตะวันตกก็ลองออกไปผจญภัยในแอฟริกา หรือถ้าคุณอยู่ในเขตร้อนก็ลองไปเที่ยวแคนาดาหน้าหนาวดู แล้วคุณจะได้สัมผัสโลกมุมใหม่ เพื่อนใหม่ และได้ฝึกที่จะมอบความรักให้สิ่งรอบตัว” — นิรนาม (Anonymous)

9.หมั่นหาความรู้เป็นต้นทุนชีวิต

“อย่าเอาแต่นั่งดูทีวีหรือเที่ยวเล่นไปทั่ว ลองอ่านหนังสือให้มากขึ้น หรือไม่ก็เข้าร่วมงานสัมมนาต่างๆ เพราะมันจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตคุณและสร้างผลกำไรต่อตัวคุณเองเมื่อได้ทำงาน ยิ่งคุณลงทุนกับความรู้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้รายได้ตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น” — Janis Butevics,ผู้ประกอบการ วัย 23 ปี, นักเขียน, ผู้ก่อตั้ง Awake or Be Slaved

10.เลิกกังวลอยู่ตลอดเวลา

“ความกังวลเป็นการดูดพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ เพราะความกังวลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตหรือสถานการณ์ต่างๆ ได้ การวางแผนและลงมือทำต่างหากที่จะนำคุณไปยังจุดที่คุณต้องการในชีวิต ลองใช้ชีวิตแบบไม่กังวลดูบ้างปรับทัศนคติตนเองใหม่และดูแลสุขภาพ เพิ่มอาหารสมองด้วยความรู้ นั่นต่างหากที่จะเป็นประโยชน์กับอนาคตของคุณ  มีความสุขกับปัจจุบัน แล้วเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่จะเกิดขึ้น” — Deme Alexis

11.เริ่มเก็บเงิน

“ไม่ว่าคุณจะทำงานเพื่อคนอื่นหรือเพื่อตัวเอง คุณควรฝึกเก็บเงินเสียตั้งแต่ตอนนี้ เงินเก็บเล็กผสมน้อยในแต่ละเดือนสามารถเปลี่ยนคุณเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ใน 20 ปีข้างหน้า และยิ่งคุณเก็บออมได้มากเท่าไหร่ ก็ย่อมทำให้คุณรวยได้เร็วขึ้น” — Stefan Stoman

Source : Business Insider

16 สิงหาคม 2559

การฝึกฝน 4 อย่างที่พนักงานควรทำเพื่อให้ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม


ลักษณะนิสัย 5 ประการที่จะทำให้คุณกลายเป็นคนล้มเหลวในชีวิต


เชื่อหรือไม่ว่าอุปนิสัยส่วนตัวเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถกำหนดความสำเร็จในชีวิตได้ บางคนกลัวความผิดพลาด กลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากพิจารณาผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วนั้น ไม่มีใครทำพลาดมาก่อน เพียงแต่เขาไม่คิดจะยอมแพ้ แต่เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียนให้กับปัจจุบัน และนี่คือลักษณะนิสัย 5 ประการที่จะทำให้คุณกลายเป็นคนล้มเหลวในชีวิต

อุปนิสัย 1: ผลัดวันประกันพรุ่ง
หากคุณมีการวางแผนในชีวิตหรือวางแผนการทำงาน แต่ไม่สามารถทำตามแผนนั้นได้เลย ด้วยการชอบผลัดวันประกันพรุ่งหรือชอบคิดว่า “ไว้ค่อยทำ” “พรุ่งนี้ก็ไม่สายเกินไป” นานเข้าจะกลายเป็นความเคยชินและทำให้คุณกลายเป็นคนเฉื่อยชา ไร้แรงจูงใจในการทำงาน
วิธีแก้ :
ในการวางแผนแต่ละครั้งไม่ควรคิดขึ้นมาแบบลอยๆ ควรกำหนดให้ชัดเจนทั้งวันและเวลาที่แน่นอน ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้ และแผนฉุกเฉินหากงานที่ทำไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เมื่อทำแบบนี้บ่อยเข้าจะช่วยให้คุณสามารถทำตามแผนตัวเองได้ง่ายขึ้น

อุปนิสัย 2: กลัวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ
 เป็นนิสัยลำดับแรกๆที่ควรกำจัดทิ้งไป เพราะการได้ลองทำสิ่งใหม่ๆคือหนทางที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น หลายคนชอบกลัวกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จนทำให้ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ กลัวว่าจะผิดพลาด ทำให้ย่ำอยู่กับที่
วิธีแก้ :
 เปลี่ยน “ความกลัว” ให้กลายเป็น “ความกล้า” ดังคำกล่าวที่ว่า “Sometimes you just have to jump off the cliff and build your wings on the way down.” นั่นก็คือ บางครั้งเราก็ต้องกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะกระโดดลงไปในหน้าผา แล้วเรียนรู้ที่จะสร้างปีกของเราขึ้นมา

อุปนิสัย 3: ยอมแพ้ง่ายเกินไป หลายคนเฝ้าถามตัวเองว่าทำไมถึงไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที ลองกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่าเป็นคนยอมแพ้ง่ายไปหรือเปล่า? บางคนยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มพยายามเสียด้วยซ้ำ หากคุณมีนิสัยแบบนี้ ต่อให้ตั้งเป้าหมายใหม่ซักกี่ร้อยครั้งก็ไม่มีวันไปถึง
วิธีแก้ :
จงเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนดื้อด้าน ไม่ยอมแพ้ มีความมุ่งมั่นสูง ไม่ทำตัวอ่อนโอนไปตามสิ่งยั่วยุ ยอมเหนื่อย ยอมลำบากเพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ

อุปนิสัย 4: ชอบแก้ตัว
ถือเป็นอุปนิสัยที่ไม่ควรมีติดตัวเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการเอาตัวรอดโดยการผลักไสความผิดของตนให้ผู้อื่น หรืออ้างโน่นอ้างนี่ เพื่อปัดความผิดออกไปจากตนเอง อุปนิสัยแบบนี้นอกจากจะไม่มีใครอยากอยู่ใกล้แล้วยังเป็นตัวเหนี่ยวรั้งไม่ให้คุณสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้อีกด้วย
 วิธีแก้ :
ปรับพฤติกรรมเสียใหม่ อย่ากลัวเสียหน้าหากต้องรับความผิด แต่จงน้อมรับความผิดด้วยความกล้าหาญ และพร้อมที่แก้ไขใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

อุปนิสัย 5: ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
จะมีประโยชน์อะไรหากเราแก้ไข 4 นิสัยข้างต้นจนหมด แต่สุดท้ายกลับไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องการการตัดสินใจ แต่คุณกลับไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะทำได้ดีพอ ขาดความเชื่อมั่นใจตัวเอง
 วิธีแก้ :
 พยายามคิดถึงข้อดีของตนเอง หรือสิ่งที่คุณเคยทำในอดีตแล้วประสบความสำเร็จ ได้รับคำชมจากผู้อื่น นั่นจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมา แต่ถึงอย่างไรหากคุณคิดว่าความสามารถด้านใดที่คุณไม่มั่นใจจริงๆก็ควรหาทางเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น

อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=108855

14 สิงหาคม 2559

ทำไมคนเราถึงควรที่จะก้าวออกมาจาก Comfort Zone ?


การทำอะไรด้วยวิธีเดิมๆซ้ำๆ อยู่ทุกวันเป็นอะไรที่ง่ายดายและน่าเบื่อ คุณรู้ดีอยู่แล้วว่าถ้ายังทำอะไรแบบนี้ต่อไปคุณจะไม่มีทางพัฒนาขึ้นเลย แต่ไม่ว่าอย่างไร มนุษย์ก็ยังเป็นสัตว์แห่งความเคยชินอยู่วันยังค่ำ เรามักกินอาหารเช้าแบบเดิมซ้ำๆ สั่งกาแฟแบบเดิมๆ และไปทำงานในเวลาเดิมๆเป็นประจำทุกวัน
คุณพอจะจำได้ไหมว่า…คุณได้ก้าวออกจาก COMFORT ZONE และเลือกทำสิ่งที่ท้าทายตนเองครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
ดร. อลิซาเบธ ลอมบาร์โด นักบำบัดและผู้เขียนหนังสือเรื่อง Better Than Perfect แนะนำว่าผู้ที่มองหาประสบการณ์แปลกใหม่อยู่เสมอ มักจะมีความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่นทางอารมณ์ที่สูงกว่าผู้ที่ทำสิ่งต่างๆ ตามกิจวัตรแบบเดิมซ้ำๆ

Flickr | TEDxNaperville  ดร. อลิซาเบธ ลอมบาร์โด
“การฉีกกรอบเดิมๆ ของตัวเอง จะทำให้คุณแข็งแกร่งและมั่นใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าทั้งด้านการงานและชีวิตส่วนตัว” เธอกล่าว
นอกจากนั้น นวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเองเช่นกัน การเอื่อยเฉื่อยอยู่ในกิจวัตรเดิมๆ มีผลให้ความคิดสร้างสรรค์ของคนๆนั้นลดฮวบลงได้ “ถ้าคุณอยากมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น คุณต้องลองทำสิ่งใหม่ๆ เปิดมุมมองความคิดใหม่ๆ และผสมผสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน” เธอกล่าว
สิ่งที่ฉุดรั้งเราจากการก้าวออกจาก Comfort Zone มากที่สุดนั่นก็คือ ความกลัว “พวกเราหวาดกลัวความล้มเหลวกันเหลือเกิน” การใช้ทักษะใหม่ๆ มักทำให้รู้สึกประดักประเดิดและตึงเครียดในตอนแรกเสมอ แต่คุณจะเริ่มชินไปเองถ้าคุณพยายามทำต่อไปเรื่อยๆ การทำจิตใจให้คุ้นชินต่อความอึดอัดใจและความไม่สบายใจนั้นคือ กุญแจที่จะสามารถก้าวข้ามความกลัวดังกล่าวได้ และต่อไปนี้คือขั้นตอนในการที่จะนำพาคุณก้าวออกจาก Comfort Zone ให้ได้นั้นเอง

จงทำมันให้คุ้นชิน

หากต้องการทำจิตใจให้คุ้นชินกับความอึดอัดใจ คุณต้องก้าวออกมาจาก Comfort Zone ให้เป็นนิสัย อย่างที่ลอมบาร์โดกล่าวว่า “ยิ่งคุณคุ้นชินต่อการได้ลองสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งกล้าเปิดรับความท้าทายใหม่ๆ มากขึ้นเท่านั้น”

เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ

 

คุณไม่จำเป็นต้องทิ้งกิจวัตรประจำวันเดิมของคุณไปเสียหมดเพื่อที่จะออกจาก Comfort Zone หรอกนะ แค่เพียงลองทำสิ่งเล็กๆ อย่างเช่น การมองหาเส้นทางใหม่ๆ ในการขับรถไปทำงาน หรือแม้แต่การย้ายโต๊ะทำงานไปจุดใหม่ๆ ก็สามารถช่วยให้คุณทำใจให้คุ้นชินกับความอึดอัดที่มากับการทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้แล้ว

แปรเปลี่ยนความกลัว

ลอมบาร์โดแนะนำว่า หากอยากเลิกนิสัยการกลัวเวลาลองสิ่งใหม่ๆ ให้คุณลองมองความกลัวให้กลายเป็นความตื่นเต้นในการที่จะได้พบเจอกับโอกาสใหม่ๆ เพราะเมื่อเรามองในแง่ดี ความรู้สึกตื่นเต้นนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่น่าลิ้มลองยิ่งขึ้น แทนที่เราจะหลีกเลี่ยงมันและไม่ลองทำมันเลย

มองหาความท้าทาย

 

“การท้าทายความสามารถตัวเองจะทำให้คุณมีมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมและยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้น” ลอมบาร์โดกล่าว เมื่อคุณทำสิ่งที่ท้าทายตนเอง คุณจะยิ่งรู้สึกได้ว่าร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดฟินออกมา ราวกับว่าได้ชาร์จพลังชีวิตเพิ่มขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

โฟกัสที่จุดมุ่งหมาย

 

การกำหนดจุดมุ่งหมายของการก้าวออกจาก Comfort Zone เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้คุณก้าวข้ามความกลัวที่จะทำมันได้เช่นกัน ลอมบาร์โดแนะนำให้คุณเขียนประโยชน์ของการทำกิจกรรมท้าทายนั้นๆ ออกมา เช่น “ทำเพื่อสร้างกำลังใจ” หรือ “ทำเพื่อให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น”  ซึ่งการเลือกมองที่จุดมุ่งหมายจะช่วยลดความเครียดลงได้และสามารถทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้ด้วย
Source : Entrepreneur

11 สิงหาคม 2559

10 ลักษณะนิสัย ที่ช่วยให้คุณเรียนรู้ได้ไวขึ้นเป็นสองเท่า


ในระหว่างที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ โลกของเราก็จำต้องก้าวตามไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่กลายเป็น “กระแส” ในวันนี้ อาจไม่มีใครพูดถึงอีกเลยในวันข้างหน้า เห็นได้ชัดเลยว่าหลังจากที่เฟซบุ๊กถือกำเนิดขึ้นมา แหล่งสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็เริ่มผุดขึ้นมาตามๆ กัน
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งสิ่งดีๆ ที่หลากหลาย แต่มันจะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากคุณถูกทิ้งไว้ข้างหลังหนึ่งในหนทางที่ดีที่สุดในการที่จะก้าวให้ทันโลก คือการสร้างลักษณะนิสัยบางอย่างที่จะช่วยให้คุณสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และนี่คือ 10 ลักษณะนิสัยที่คุณควรปรับใช้ในชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ได้ดีและเร็วขึ้นเป็นสองเท่าตัว

1. การอ่านเร็ว

เป็นที่รู้กันดีว่า ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมักอ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่น Warren Buffett ผู้มีนิสัยรักการอ่าน เขาอ่านหนังสือวันละหลายชั่วโมง นักอ่านโดยทั่วไปจะมีความเร็วในการอ่านอยู่ที่ประมาณ 200 – 400 คำ ต่อนาที ในขณะที่ “นักอ่านเร็ว” จะอ่านได้ที่ประมาณ 1,000 – 1,700 คำ
การอ่านเร็วมักจะทำได้โดยอาศัยการพัฒนาทักษะการอ่านในด้านต่างๆ เช่น การอ่านรวบคำ (แทนที่จะอ่านคำต่อคำ)การอ่านออกเสียงในหัวให้น้อยลง อ่านสแกน (เพื่อจับใจความสำคัญ) และ การไล่อ่านตามอุปกรณ์ชี้นำ (เช่น การใช้ปากกาไล่ตามตัวอักษรขณะอ่าน)
การที่คุณจะอ่านเร็วได้จำเป็นต้องมีการฝึกฝน แต่หากคุณสามารถทำได้จนเป็นนิสัยแล้วล่ะก็ คุณก็จะสามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมากมายกว่าเดิมหลายเท่าในเวลาอันสั้นแน่นอน

2. ควบคุมสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้

คุณเคยสังเกตไหมว่า มีบางเวลาที่สามารถเรียนรู้อะไรๆ ได้อย่างง่ายดายและราบรื่น ในขณะที่มีบางเวลากลับไม่สามารถซึมซับอะไรเข้าหัวได้เลย หรือไม่ก็รู้สึกเหมือนการเรียนรู้นั้นๆ ยากเสียยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา? อย่างที่ทราบว่าพวกเราทุกคนต่างมี “นาฬิกาชีวิต” ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ควรศึกษาตนเองว่าเวลาไหนที่คุณรู้สึกตื่นตัวมากที่สุด แล้วเลือกใช้เวลานั้นในการเรียนรู้
การตกอยู่ในสภาวะที่เคร่งเครียด หวาดกลัว และไร้ระเบียบ อาจทำให้คุณไม่สามารถใช้มันสมองและจินตนาการได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นแล้ว ในการที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในภาวะที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ได้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างสรรค์ คุณควรจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดโปร่งโล่งสบาย และจัดแจงสิ่งต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การหายใจเข้าลึกๆ ก็สามารถช่วยให้ผ่อนคลาย และตั้งสมาธิได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยที่ยืนยันว่า การจัดสรรอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสมมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งอุณหูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ 72 – 80 องศาฟาเรนไฮต์ (หรือประมาณ 22 – 27 องศาเซลเซียส)

3. จดบันทึกย่อ


การจดบันทึกย่อจะช่วยให้สมองเกิดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่เราได้เรียนรู้ อีกทั้งการเขียนยังเป็นการทบทวนข้อมูลที่รับเข้ามาได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย มีการศึกษา พบว่าการจดบันทึกย่อโดยการพิมพ์ไม่สามารถช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีเท่ากับการเขียน เนื่องจากความเร็วในการเขียนจะช้ากว่า และผู้เขียนก็ต้องคอยระวังและพิจารณาข้อมูลที่ได้รับก่อนจะเขียนลงไป ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะพิมพ์คำต่อคำลงไป และแทบไม่ได้คำนึงถึงข้อมูลในระหว่างพิมพ์เลยด้วยซ้ำ ดังนั้น การสร้างนิสัยให้เขียนบันทึกอยู่เป็นประจำ จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการเรียนรู้ได้
นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นจดบันทึกบนมือถือต่างๆ เช่น Evernote ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่บันทึกเข้ากับอุปกรณ์เครื่องอื่นๆ ได้ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมันสามารถสแกน และอ่านข้อความที่เขียนลงไปได้ อีกทั้งยังสามารถบันทึกผ่านข้อความเสียงได้ด้วย ที่สำคัญคือสามารถเรียกใช้งานการบันทึกได้โดยไม่ต้องพะวงว่าจะเผลอลืมกระดาษโน้ตทิ้งไว้ที่ไหนเลย

4. การเรียนรู้หลายรูปแบบ

ผู้คนส่วนใหญ่มักจะชื่นชอบการใช้สื่อการเรียนรู้แบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง การเขียน/อ่าน และการลงมือปฏิบัติ ถ้าหากคุณชอบเรียนรู้จากการดูภาพ การเรียนรู้ผ่านสื่อที่เป็นภาพก็เป็นไอเดียที่ไม่เลว เช่น การดู infographic แผนภาพ หรือ PowerPoint และถ้าหากคุณชอบการฟังมากกว่า แน่นอนว่าต้องเหมาะกับพวกพอดแคสท์(Podcast) ฟังบทสัมภาษณ์ และออดิโอบุ๊คส์ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเขียนและอ่านจะเหมาะกับการอ่านข้อมูลและจดบันทึกเป็นที่สุด หรือถ้าเป็นพวกชอบการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ คุณจะเรียนรู้ได้เร็วขึ้นมากจากการใช้มือหรือร่างกายในการปฏิบัติจริง
เมื่อเข้าใจและรู้จักตนเองว่าเหมาะกับการเรียนรู้แบบไหนแล้ว ความสามารถในการรับข้อมูลของคุณจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยการเลือกสื่อและระบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความถนัดของตน

5. เชื่อมโยงข้อมูลในหัว

การเชื่อมโยงข้อมูลที่รู้อยู่แล้วกับข้อมูลใหม่ที่เพิ่งเรียนรู้มา จะช่วยลดเวลาในการเรียนรู้ของคุณลงได้ คุณสามารถทำได้โดยการใช้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เช่น ใช้ตัวอักษรย่อที่คุ้นเคยและคำคล้องจองในการจดจำสิ่งต่างๆๆ การใช้สีที่ชอบในการจดจำอัลกอริธึม หรือวาดภาพที่น่าสนใจในหัวเกี่ยวกับลูกค้าเพื่อจดจำชื่อของพวกเขา เป็นต้น
ยิ่งใช้เทคนิคในการเชื่อมโยงข้อมูลได้มากเท่าไหร่ ยิ่งง่ายต่อการเพิ่มความเร็วในการเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น

6. บริหารสมอง

 

สมองก็เหมือนกับมัดกล้ามเนื้ออื่นๆ ในร่างกาย ที่ยิ่งบริหารมากเท่าใด ก็จะยิ่งแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานมากเท่านั้น คุณสามารถเรียนรู้และท้าทายตัวเองได้โดยการลองหยิบจับสิ่งใหม่ๆ หรือกระทั่งการใช้แหล่งเรียนรู้ที่สนุกสนาน ก็สามารถเพิ่มความสามารถในการจดจำได้ การตั้งใจจดจ่ออยู่กับสิ่งต่างๆ สามารถเพิ่มความสามารถในการคิด รวมถึงความเร็วของสมองได้ด้วยเช่นกัน กล่าวได้ว่า ยิ่งฝึกสมองให้มาก ก็ยิ่งเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

7. ฟังเพลงที่จะช่วยสร้าง “อัลฟ่าสเตท” (alpha state)

 

รูปแบบของคลื่นสมองของคนเราแบ่งเป็นสี่ประเภทหลักๆ คือ อัลฟ่า เบต้า เธต้า และเดลต้า โดยช่วงความถี่คลื่นสมองในสภาวะที่เรียกว่า “อัลฟ่าสเตท” (ประมาณ 8 – 13 เฮิร์ทซ์) จะเป็นช่วงที่เหมาะสมกับการใช้สมาธิและการเรียนรู้มากที่สุด
ซึ่งการเข้าสู่สภาวะอัลฟ่า หรืออัลฟ่าสเตท สามารถทำได้โดยการฟังเพลงที่มีจังหวะอยู่ในช่วง 8 – 13 เฮิร์ทซ์ (เช่น เพลงบาโรก baroque music) ในระหว่างการเรียน ถ้าหากว่าไม่ชอบเพลงสไตล์บาโรกก็สามารถใช้เพลงประเภทอื่นๆ ที่มีจังหวะใกล้เคียงกันก็ได้ ทั้งนี้ เพลงที่มีเสียงร้องหรือเนื้อร้องด้วยอาจทำให้เกิดการวอกแวกได้ ดังนั้นหลีกเลี่ยงไว้จะเป็นการดีกว่า

8. ปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกฝน

Malcolm Gladwell ได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการลงมือฝึกฝนอย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วนเอาไว้ในหนังสือ“Outliers: The Story of Success.” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยกล่าวถึงการลงมือฝึกฝนอย่างละเอียดรอบคอบว่าเป็นการมุ่งมั่นตั้งใจอยู่กับการพัฒนาทักษะ และการหลีกเลี่ยงพื้นที่ปลอดภัย (คอมฟอร์ทโซน) ซึ่งแกลดเวลล์ได้ใช้แนวคิดนี้ในการอธิบายว่าเหตุใดบรรดานักกีฬาและนักดนตรี จึงมีพัฒนาการทักษะด้านต่างๆ ที่รวดเร็วกว่าคนอื่นๆ
มีการวิจัยล่าสุด พบว่าการปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกฝนเล็กน้อยจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องการเรียนรู้ทักษะที่ใช้การเคลื่อนไหว เพราะขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกฝนจะช่วยส่งเสริมการเพิ่มอัตราการจำของสมองให้แม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้ความรู้ใหม่หลอมรวมเข้ากับความทรงจำที่มีอยู่ ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝึกฝนโดยปรับเปลี่ยนวิธีการเล็กๆ น้อยๆ คือช่วงเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงหลังจากการฝึกครั้งแรก เนื่องจากสมองจะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงในการสร้างและสั่งสมความจำให้มั่นคง

9. เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ไม่มีการเรียนรู้แบบไหนจะสู้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงได้อีกแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ความรู้จากตำราจะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากกว่าเดิมหากได้เพิ่มเติมความรู้ในเชิงปฏิบัติเข้าไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเล่นหุ้นมากเท่าไหร่ก็ได้ แต่จนกว่าจะได้ลงมือเล่นจริงๆ ก็คงไม่ทางได้รู้ว่าขั้นตอนต่างๆ เวลาลงมือจริงเป็นอย่างไร และการลงเงินเล่นหุ้นจริงๆ เป็นอย่างไร
อีกหนทางหนึ่งคือการหมกตัวอยู่กับประสบการณ์จากการเรียนรู้ เช่น ถ้าหากคุณกำลังพยายามฝึกภาษาอังกฤษ อาจลองใช้เวลาสักสองเดือนอยู่ในต่างประเทศ แล้วห้ามตัวเองไม่ให้ใช้ภาษาอื่นๆ ดู รับรองว่าคุณจะสามารถเรียนรู้การใช้ภาษาได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการใช้หนังสือหรือออดิโอบุ๊คเสียอีก

10. นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสอนผู้อื่นต่อ

การนำสิ่งที่กำลังเรียนรู้ไปสอนผู้อื่นต่อจะช่วยให้ความจำในเรื่องนั้นๆ เพิ่มขึ้นถึง 90% และจะยิ่งได้ผลดียิ่งขึ้นหากทำการสอนหลังจากที่เรียนรู้เสร็จในทันที นอกจากจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยการถ่ายทอดความรู้ให้แล้ว ยังเป็นการช่วยให้ตัวเองในการทดสอบความรู้ที่เรียนมา ว่าเข้าใจได้ดีแค่ไหน และยังพลาดอะไรไปบ้างอีกด้วย
ถ้าหากว่าสามารถสร้างทั้ง 10 ลักษณะดังที่กล่าวมาให้กลายเป็นนิสัยได้ รับรองเลยว่าคุณจะต้องประหลาดใจกับความสามารถและความว่องไวในการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง: ทำอย่างไรคุณจึงจะสามารถจดจำสิ่งที่คุณเรียนรู้ได้มากถึง 90%

Source : Entrepreneur

10 คุณสมบัติของคนที่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์เป็นเลิศ



เคยสงสัยไหม? ว่าทำไมบางคนถึงได้ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัวและในชีวิตการงาน เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนที่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์ที่ดีเยี่ยม
เว็บไซต์ Psychology Today เผยว่า “ความฉลาดทางด้านอารมณ์ คือความสามารถในการแยกแยะและจัดการกับอารมณ์ของตนเองและอารมณ์ของผู้อื่นได้”
ซึ่งความสามารถเหล่านี้ต้องอาศัย…
  • ความสามารถในการรับรู้ทางอารมณ์ หรือก็คือการบุคคลคนนั้นสามารถเข้าใจถึงอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้
  • ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง เช่น การแก้ปัญหาในที่ทำงานในสภาวะที่ต้องเผชิญแรงกดดันสูง
  • ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง เช่น มีความใจเย็นและสามารถควบคุมสติได้ในเวลาที่อารมณ์เสีย
หากคุณอยากรู้ว่า จะต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์เป็นเลิศ รวมไปถึงวิธีการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของตนเอง ที่จะช่วยนำพาคุณไปสู่ความสำเร็จในชีวิตและการงาน ไปชมกันเลยครับ
10 คุณสมบัติของบุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง!

1. พวกเขาไม่ใช่คนคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบ

การเป็นคนที่ คลั่งไคล้ความสมบูรณ์ (Perfectionist) อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เพราะลักษณะนิสัยนี้มักจะประสบปัญหาต่างๆ เช่น ความยุ่งยากกว่าจะได้เริ่มต้น การผลัดวันประกันพรุ่ง หรือแม้แต่การหาคำตอบในสิ่งที่ไม่จำเป็น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ต้องหลีกเลี่ยงที่จะเป็นคนคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบ เพราะพวกเขารู้ดีว่าไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบไปซะทุกอย่าง จงเลือกที่จะเดินหน้าต่อไปดีกว่ารอให้สิ่งต่างๆ พร้อมก่อน และเวลาทำผิดพลาดก็เพียงแค่เปิดใจเรียนรู้ แล้วหาทางปรับปรุงแก้ไขมันให้ดีขึ้นยังดีเสียกว่า

2. พวกเขารู้วิธีการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน


การทำงานตลอดเวลา ไม่ยอมหยุดพัก เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา เพราะเหตุนี้บุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์จึงเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเวลาไหนควรเล่นหรือพักผ่อน และเวลาไหนที่ต้องจริงจังกับการทำงาน

3. พวกเขาเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง

แทนที่จะเอาแต่กลัวการเปลี่ยนแปลง คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะตระหนักว่า “การเปลี่ยนแปลงล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” การกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ขัดขวางความสำเร็จ ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะปรับตัวต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแผนการรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเสมอ

4. พวกเขาไม่ใช่คนไขว้เขวกับอะไรง่ายๆ

คนที่ฉลาดทางอารมณ์นั้น มักมีความมุ่งมั่นตั้งใจต่องานที่อยู่ตรงหน้า และยากที่จะมีอะไรมาทำให้พวกเขาไขว้เขวได้

5. พวกเขาเป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

Daniel Goleman นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ Focus: The Hidden Driver of Excellence กล่าวกับ The Huffington Post ว่า ความเห็นอกเห็นใจคือหนึ่งในห้าองค์ประกอบหลักของความฉลาดทางอารมณ์ ความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อคนรอบข้าง และการสละเวลาของตนเองเพื่อที่จะช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ทั้งสิ้น

6. พวกเขารับรู้และเข้าใจข้อดีข้อเสียของตนเอง

คนเหล่านี้มีความฉลาดทางอารมณ์สูง พวกเขามักจะรู้ดีว่าตนเก่งอะไรและมีจุดอ่อนตรงส่วนไหน พวกเขาไม่เพียงยอมรับข้อดีข้อด้อยของตนเองได้เท่านั้น แต่ยังนำข้อดีข้อด้อยเหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย

7. พวกเขารู้จักสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง

ตอนเด็กๆ คุณมีความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของตนเอง โดยที่ไม่ต้องมีของรางวัลมาตอบแทนใช่หรือไม่? การที่เป็นคน “มุ่งมั่นตั้งใจจริง” ตั้งแต่ยังเด็กๆ โดยมีเป้าหมายเป็นแรงจูงใจนั้น เป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของคนที่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์

8. พวกเขาไม่คร่ำครวญอยู่กับอดีต

คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ มักจะไม่มีเวลามาหวนนึกถึงอดีตที่ผ่านมา เพราะพวกเขามักจะง่วนอยู่กับ “วันพรุ่งนี้” โดยไม่ยอมปล่อยให้ความผิดพลาดในอดีตมากลืนกินตัวเอง รวมถึงไม่แบกรับความขุ่นข้องใจต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่จะเพิ่มทั้งความเครียดและขัดขวางความก้าวหน้าในชีวิตของพวกเขา

9. พวกเขามักจะคิดแต่เรื่องดีๆ

คนที่ทีความฉลาดทางอารมณ์มักเลือกที่จะทุ่มเทเวลาและแรงกายให้กับการแก้ไขปัญหาที่ถาโถมเข้ามา มากกว่าที่จะมัวคิดถึงแต่เรื่องแย่ๆ พวกเขาเลือกที่จะมองแต่เรื่องดีๆ รวมไปถึงเรื่องที่สามารถควบคุมมันได้ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขามักอยู่กับคนที่ชอบคิดบวกและเลี่ยงที่จะอยู่กับคนคิดลบ ชอบบ่นนู่นบ่นนี่อยู่ตลอดเวลา

10. พวกเขารู้จักสร้างขอบเขตให้ตนเอง

แม้ว่าคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์มักดูเหมือนคนที่ใจอ่อนได้ง่าย ด้วยความที่มีมารยาท ถ่อมตน และชอบเห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่แท้จริงแล้วพวกเขารู้ดีว่าขอบเขตของพวกเขานั้นอยู่ตรงไหน เช่น ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงควรที่จะต้องกล่าว “ปฏิเสธ” ซึ่งมันสามารถช่วยปกป้องเขาจากความเครียดที่จะเกิดจากการรับผิดชอบที่มากเกินพอดีได้นั่นเอง
Source : Inc