11 สิงหาคม 2559

10 ลักษณะนิสัย ที่ช่วยให้คุณเรียนรู้ได้ไวขึ้นเป็นสองเท่า


ในระหว่างที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ โลกของเราก็จำต้องก้าวตามไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่กลายเป็น “กระแส” ในวันนี้ อาจไม่มีใครพูดถึงอีกเลยในวันข้างหน้า เห็นได้ชัดเลยว่าหลังจากที่เฟซบุ๊กถือกำเนิดขึ้นมา แหล่งสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็เริ่มผุดขึ้นมาตามๆ กัน
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งสิ่งดีๆ ที่หลากหลาย แต่มันจะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากคุณถูกทิ้งไว้ข้างหลังหนึ่งในหนทางที่ดีที่สุดในการที่จะก้าวให้ทันโลก คือการสร้างลักษณะนิสัยบางอย่างที่จะช่วยให้คุณสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และนี่คือ 10 ลักษณะนิสัยที่คุณควรปรับใช้ในชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ได้ดีและเร็วขึ้นเป็นสองเท่าตัว

1. การอ่านเร็ว

เป็นที่รู้กันดีว่า ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมักอ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่น Warren Buffett ผู้มีนิสัยรักการอ่าน เขาอ่านหนังสือวันละหลายชั่วโมง นักอ่านโดยทั่วไปจะมีความเร็วในการอ่านอยู่ที่ประมาณ 200 – 400 คำ ต่อนาที ในขณะที่ “นักอ่านเร็ว” จะอ่านได้ที่ประมาณ 1,000 – 1,700 คำ
การอ่านเร็วมักจะทำได้โดยอาศัยการพัฒนาทักษะการอ่านในด้านต่างๆ เช่น การอ่านรวบคำ (แทนที่จะอ่านคำต่อคำ)การอ่านออกเสียงในหัวให้น้อยลง อ่านสแกน (เพื่อจับใจความสำคัญ) และ การไล่อ่านตามอุปกรณ์ชี้นำ (เช่น การใช้ปากกาไล่ตามตัวอักษรขณะอ่าน)
การที่คุณจะอ่านเร็วได้จำเป็นต้องมีการฝึกฝน แต่หากคุณสามารถทำได้จนเป็นนิสัยแล้วล่ะก็ คุณก็จะสามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมากมายกว่าเดิมหลายเท่าในเวลาอันสั้นแน่นอน

2. ควบคุมสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้

คุณเคยสังเกตไหมว่า มีบางเวลาที่สามารถเรียนรู้อะไรๆ ได้อย่างง่ายดายและราบรื่น ในขณะที่มีบางเวลากลับไม่สามารถซึมซับอะไรเข้าหัวได้เลย หรือไม่ก็รู้สึกเหมือนการเรียนรู้นั้นๆ ยากเสียยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา? อย่างที่ทราบว่าพวกเราทุกคนต่างมี “นาฬิกาชีวิต” ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ควรศึกษาตนเองว่าเวลาไหนที่คุณรู้สึกตื่นตัวมากที่สุด แล้วเลือกใช้เวลานั้นในการเรียนรู้
การตกอยู่ในสภาวะที่เคร่งเครียด หวาดกลัว และไร้ระเบียบ อาจทำให้คุณไม่สามารถใช้มันสมองและจินตนาการได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นแล้ว ในการที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในภาวะที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ได้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างสรรค์ คุณควรจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดโปร่งโล่งสบาย และจัดแจงสิ่งต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การหายใจเข้าลึกๆ ก็สามารถช่วยให้ผ่อนคลาย และตั้งสมาธิได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยที่ยืนยันว่า การจัดสรรอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสมมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งอุณหูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ 72 – 80 องศาฟาเรนไฮต์ (หรือประมาณ 22 – 27 องศาเซลเซียส)

3. จดบันทึกย่อ


การจดบันทึกย่อจะช่วยให้สมองเกิดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่เราได้เรียนรู้ อีกทั้งการเขียนยังเป็นการทบทวนข้อมูลที่รับเข้ามาได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย มีการศึกษา พบว่าการจดบันทึกย่อโดยการพิมพ์ไม่สามารถช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีเท่ากับการเขียน เนื่องจากความเร็วในการเขียนจะช้ากว่า และผู้เขียนก็ต้องคอยระวังและพิจารณาข้อมูลที่ได้รับก่อนจะเขียนลงไป ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะพิมพ์คำต่อคำลงไป และแทบไม่ได้คำนึงถึงข้อมูลในระหว่างพิมพ์เลยด้วยซ้ำ ดังนั้น การสร้างนิสัยให้เขียนบันทึกอยู่เป็นประจำ จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการเรียนรู้ได้
นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นจดบันทึกบนมือถือต่างๆ เช่น Evernote ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่บันทึกเข้ากับอุปกรณ์เครื่องอื่นๆ ได้ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมันสามารถสแกน และอ่านข้อความที่เขียนลงไปได้ อีกทั้งยังสามารถบันทึกผ่านข้อความเสียงได้ด้วย ที่สำคัญคือสามารถเรียกใช้งานการบันทึกได้โดยไม่ต้องพะวงว่าจะเผลอลืมกระดาษโน้ตทิ้งไว้ที่ไหนเลย

4. การเรียนรู้หลายรูปแบบ

ผู้คนส่วนใหญ่มักจะชื่นชอบการใช้สื่อการเรียนรู้แบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง การเขียน/อ่าน และการลงมือปฏิบัติ ถ้าหากคุณชอบเรียนรู้จากการดูภาพ การเรียนรู้ผ่านสื่อที่เป็นภาพก็เป็นไอเดียที่ไม่เลว เช่น การดู infographic แผนภาพ หรือ PowerPoint และถ้าหากคุณชอบการฟังมากกว่า แน่นอนว่าต้องเหมาะกับพวกพอดแคสท์(Podcast) ฟังบทสัมภาษณ์ และออดิโอบุ๊คส์ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเขียนและอ่านจะเหมาะกับการอ่านข้อมูลและจดบันทึกเป็นที่สุด หรือถ้าเป็นพวกชอบการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ คุณจะเรียนรู้ได้เร็วขึ้นมากจากการใช้มือหรือร่างกายในการปฏิบัติจริง
เมื่อเข้าใจและรู้จักตนเองว่าเหมาะกับการเรียนรู้แบบไหนแล้ว ความสามารถในการรับข้อมูลของคุณจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยการเลือกสื่อและระบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความถนัดของตน

5. เชื่อมโยงข้อมูลในหัว

การเชื่อมโยงข้อมูลที่รู้อยู่แล้วกับข้อมูลใหม่ที่เพิ่งเรียนรู้มา จะช่วยลดเวลาในการเรียนรู้ของคุณลงได้ คุณสามารถทำได้โดยการใช้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เช่น ใช้ตัวอักษรย่อที่คุ้นเคยและคำคล้องจองในการจดจำสิ่งต่างๆๆ การใช้สีที่ชอบในการจดจำอัลกอริธึม หรือวาดภาพที่น่าสนใจในหัวเกี่ยวกับลูกค้าเพื่อจดจำชื่อของพวกเขา เป็นต้น
ยิ่งใช้เทคนิคในการเชื่อมโยงข้อมูลได้มากเท่าไหร่ ยิ่งง่ายต่อการเพิ่มความเร็วในการเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น

6. บริหารสมอง

 

สมองก็เหมือนกับมัดกล้ามเนื้ออื่นๆ ในร่างกาย ที่ยิ่งบริหารมากเท่าใด ก็จะยิ่งแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานมากเท่านั้น คุณสามารถเรียนรู้และท้าทายตัวเองได้โดยการลองหยิบจับสิ่งใหม่ๆ หรือกระทั่งการใช้แหล่งเรียนรู้ที่สนุกสนาน ก็สามารถเพิ่มความสามารถในการจดจำได้ การตั้งใจจดจ่ออยู่กับสิ่งต่างๆ สามารถเพิ่มความสามารถในการคิด รวมถึงความเร็วของสมองได้ด้วยเช่นกัน กล่าวได้ว่า ยิ่งฝึกสมองให้มาก ก็ยิ่งเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

7. ฟังเพลงที่จะช่วยสร้าง “อัลฟ่าสเตท” (alpha state)

 

รูปแบบของคลื่นสมองของคนเราแบ่งเป็นสี่ประเภทหลักๆ คือ อัลฟ่า เบต้า เธต้า และเดลต้า โดยช่วงความถี่คลื่นสมองในสภาวะที่เรียกว่า “อัลฟ่าสเตท” (ประมาณ 8 – 13 เฮิร์ทซ์) จะเป็นช่วงที่เหมาะสมกับการใช้สมาธิและการเรียนรู้มากที่สุด
ซึ่งการเข้าสู่สภาวะอัลฟ่า หรืออัลฟ่าสเตท สามารถทำได้โดยการฟังเพลงที่มีจังหวะอยู่ในช่วง 8 – 13 เฮิร์ทซ์ (เช่น เพลงบาโรก baroque music) ในระหว่างการเรียน ถ้าหากว่าไม่ชอบเพลงสไตล์บาโรกก็สามารถใช้เพลงประเภทอื่นๆ ที่มีจังหวะใกล้เคียงกันก็ได้ ทั้งนี้ เพลงที่มีเสียงร้องหรือเนื้อร้องด้วยอาจทำให้เกิดการวอกแวกได้ ดังนั้นหลีกเลี่ยงไว้จะเป็นการดีกว่า

8. ปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกฝน

Malcolm Gladwell ได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการลงมือฝึกฝนอย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วนเอาไว้ในหนังสือ“Outliers: The Story of Success.” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยกล่าวถึงการลงมือฝึกฝนอย่างละเอียดรอบคอบว่าเป็นการมุ่งมั่นตั้งใจอยู่กับการพัฒนาทักษะ และการหลีกเลี่ยงพื้นที่ปลอดภัย (คอมฟอร์ทโซน) ซึ่งแกลดเวลล์ได้ใช้แนวคิดนี้ในการอธิบายว่าเหตุใดบรรดานักกีฬาและนักดนตรี จึงมีพัฒนาการทักษะด้านต่างๆ ที่รวดเร็วกว่าคนอื่นๆ
มีการวิจัยล่าสุด พบว่าการปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกฝนเล็กน้อยจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องการเรียนรู้ทักษะที่ใช้การเคลื่อนไหว เพราะขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกฝนจะช่วยส่งเสริมการเพิ่มอัตราการจำของสมองให้แม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้ความรู้ใหม่หลอมรวมเข้ากับความทรงจำที่มีอยู่ ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝึกฝนโดยปรับเปลี่ยนวิธีการเล็กๆ น้อยๆ คือช่วงเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงหลังจากการฝึกครั้งแรก เนื่องจากสมองจะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงในการสร้างและสั่งสมความจำให้มั่นคง

9. เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ไม่มีการเรียนรู้แบบไหนจะสู้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงได้อีกแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ความรู้จากตำราจะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากกว่าเดิมหากได้เพิ่มเติมความรู้ในเชิงปฏิบัติเข้าไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเล่นหุ้นมากเท่าไหร่ก็ได้ แต่จนกว่าจะได้ลงมือเล่นจริงๆ ก็คงไม่ทางได้รู้ว่าขั้นตอนต่างๆ เวลาลงมือจริงเป็นอย่างไร และการลงเงินเล่นหุ้นจริงๆ เป็นอย่างไร
อีกหนทางหนึ่งคือการหมกตัวอยู่กับประสบการณ์จากการเรียนรู้ เช่น ถ้าหากคุณกำลังพยายามฝึกภาษาอังกฤษ อาจลองใช้เวลาสักสองเดือนอยู่ในต่างประเทศ แล้วห้ามตัวเองไม่ให้ใช้ภาษาอื่นๆ ดู รับรองว่าคุณจะสามารถเรียนรู้การใช้ภาษาได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการใช้หนังสือหรือออดิโอบุ๊คเสียอีก

10. นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสอนผู้อื่นต่อ

การนำสิ่งที่กำลังเรียนรู้ไปสอนผู้อื่นต่อจะช่วยให้ความจำในเรื่องนั้นๆ เพิ่มขึ้นถึง 90% และจะยิ่งได้ผลดียิ่งขึ้นหากทำการสอนหลังจากที่เรียนรู้เสร็จในทันที นอกจากจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยการถ่ายทอดความรู้ให้แล้ว ยังเป็นการช่วยให้ตัวเองในการทดสอบความรู้ที่เรียนมา ว่าเข้าใจได้ดีแค่ไหน และยังพลาดอะไรไปบ้างอีกด้วย
ถ้าหากว่าสามารถสร้างทั้ง 10 ลักษณะดังที่กล่าวมาให้กลายเป็นนิสัยได้ รับรองเลยว่าคุณจะต้องประหลาดใจกับความสามารถและความว่องไวในการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง: ทำอย่างไรคุณจึงจะสามารถจดจำสิ่งที่คุณเรียนรู้ได้มากถึง 90%

Source : Entrepreneur

ไม่มีความคิดเห็น: