22 ตุลาคม 2559

ทำไมคุณต้องมี ความฉลาดทางอารมณ์สูง(EQ) ถึงจะประสบความสำเร็จ?


ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นคำตอบว่า ทำไมคนที่มีไอคิวปานกลางถึงสามารถทำงานได้ดีกว่าคนที่มีไอคิวสูงแทบจะ 70% ของทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนมากมายที่เคยคิดว่าไอคิวคือสิ่งเดียวที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ โดยงานวิจัยช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ความฉลาดทางอารมณ์ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บางคนมีความสามารถโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ
ความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวของเราทุกคน มันมีผลต่อการกระทำ วิธีใช้ชีวิตในสังคมที่ซับซ้อน และรวมไปถึงการตัดสินใจต่าง ๆ ความฉลาดทางอารมณ์ประกอบขึ้นจากทักษะทั้ง 4 อย่าง โดยแบ่งได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ความสามารถส่วนตัว และ ความสามารถทางสังคม
ความสามารถส่วนบุคคล (Personal Competence) ประกอบด้วย ทักษะการตระหนักรู้ในตนเองและการจัดการตนเอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเองมากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มันหมายถึงความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตัวเอง และการควบคุมนิสัย การกระทำของตัวเอง
  • การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) คือ ความสามารถในการสังเกตอารมณ์ของตนเอง และตระหนักรู้เมื่อเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ขึ้นในจิตใจ
  • การจัดการตนเอง (Self-Management) คือ ความสามารถในการใช้ความตระหนักในอารมณ์ของตนเองเพื่อปรับตัว และควบคุมการกระทำให้เป็นไปในทางบวก
ความสามารถทางสังคม (Social Competence) ประกอบด้วย ทักษะการตระหนักรู้ทางสังคมและการจัดการความสัมพันธ์ มันคือความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ การกระทำ และลักษณะของผู้อื่น เพื่อให้สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การตระหนักรู้ทางสังคม (Social Awareness) คือ ความสามารถในการสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น และเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้
  • การจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management) คือ ความสามารถในการใช้ความตระหนักรู้ในอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น เพื่อให้การปฏิสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่น

ความฉลาดทางอารมณ์ ไอคิว และบุคลิกภาพนั้นมีความแตกต่างกัน

ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของการกระทำของมนุษย์ โดยมันแยกออกจากสติปัญญาโดยสิ้นเชิง ยังไม่มีการค้นพบว่าไอคิวมีความเชื่อมโยงต่อกันกับความฉลาดทางอารมณ์ เราจึงคาดเดาไม่ได้เลยว่าคนที่มีไอคิวสูงนั้นเขาจะมีความฉลาดทางอารมณ์ที่สูงตามหรือไม่
โดย สติปัญญาหรือไอคิว นั้น คือความสามารถในการเรียนรู้ ที่ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าใด มันก็ยังจะคงเดิม ไม่สามารถฝึกฝนเพื่อทำการเพิ่มพูนได้ แต่ความฉลาดทางอารมณ์นั้นเป็นทักษะที่ยืดหยุ่นได้ มันสามารถพัฒนาได้ผ่านการฝึกฝน
ส่วน บุคลิกภาพ คือองค์ประกอบส่วนสุดท้าย มันคือ “สไตล์” ที่บ่งบอกความเป็นตัวคุณ บุคลิกภาพเกิดจากความชอบหลาย ๆ อย่างที่ฝังลึกในใจ เช่น การเป็นคนเปิดเผยหรือคนเก็บตัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามบุคลิกภาพไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาคาดเดาระดับความฉลาดทางอารมณ์ได้เช่นกัน และเป็นสิ่งที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับไอคิว

ความฉลาดทางอารมณ์เป็นตัวที่บ่งบอกความสามารถ

คุณทราบไหมว่าความฉลาดทางอารมณ์มีผลต่อความสำเร็จในอาชีพการงานมากแค่ไหน? ตอบได้สั้นๆ ว่า มากสุดๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณทุ่มเทพลังงานไปในทิศทางเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดผลสำเร็จมากกว่า เว็บไซต์ TalentSmart ได้ทำการทดสอบความฉลาดทางอารมณ์และทักษะอื่น ๆ 33 อย่าง แล้วผลสรุปพบว่าความฉลาดทางอารมณ์เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำงานที่เที่ยงตรงที่สุด โดยมีผลต่อความสำเร็จถึง 58% ในการทำงานทุกประเภท
ความฉลาดทางอารมณ์ของคุณเป็นพื้นฐานของทักษะสำคัญมากมาย มันมีผลต่อแทบทุกการกระทำ รวมไปถึงทุกคำพูดในแต่ละวันของคุณเลยทีเดียว
จากกลุ่มทดลอง พบว่ากว่า 90% ของคนที่ทำงานได้ดีเยี่ยมล้วนมีความฉลาดทางอารมณ์สูงเช่นกัน ขณะที่มีเพียง 20% ของคนที่ทำงานได้ไม่ค่อยจะดีนัก ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง ดังนั้นมันจึงมีโอกาสน้อยมาก หากคุณจะทำงานให้ดีได้ โดยปราศจากความฉลาดทางอารมณ์
โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะหาเงินได้มากกว่าคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ต่ำ ทั้งสองสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกันสูงจนสามารถกล่าวได้ว่า ยิ่งการที่มีความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระดับ จะเท่ากับว่าเขาเหล่านั้นจะได้รับรายได้รายปีเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้คนในทุก ๆ อาชีพ ทุกระดับทั่วโลกยึดถือเลยก็ว่าได้ และก็ยังไม่พบเจองานแบบไหนที่ความฉลาดทางอารมณ์ไม่ส่งผลต่อศักยภาพในการทำงานและระดับรายได้เลย

คุณสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของตัวเองได้

การสื่อสารระหว่างสมองส่วนที่เป็นเหตุเป็นผลและส่วนของอารมณ์เป็นแหล่งกำเนิดของความฉลาดทางอารมณ์ นักประสาทวิทยาใช้คำว่า Plasticity ในการอธิบายความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของสมอง ในขณะที่คุณค้นพบและฝึกฝนทักษะความฉลาดทางอารมณ์ใหม่ ๆ เซลล์ประสาทเล็กจิ๋วหลายพันล้านเซลล์ที่เชื่อมระหว่างศูนย์กลางเหตุผลและอารมณ์ของสมองจะยื่น “แขน” เล็กๆ ออกไปหาเซลล์ตัวอื่นต่อไปเรื่อย ๆ (ราวกับกิ่งก้านของต้นไม้) โดยหนึ่งเซลล์สามารถเชื่อมตัวกับเซลล์ใกล้ตัวได้ถึง 15,000 จุด การขยายตัวที่มีลักษณะเป็นลูกโซ่นี้จึงเป็นตัวการันตีได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากเลยที่คนเราจะฝึกฝนนิสัยหรือพฤติกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต
เมื่อคุณฝึกฝนสมองของตัวเองด้วยการฝึกทักษะความฉลาดทางอารมณ์ใหม่ ๆ ซ้ำ ๆ สมองของคุณก็จะเริ่มสั่งการให้กลายเป็นนิสัย และในเวลาไม่นาน คุณก็จะเริ่มตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างด้วยความฉลาดทางอารมณ์โดยไม่รู้ตัว  ในขณะเดียวกัน การเชื่อมต่อของเซลล์เพื่อรองรับนิสัยแบบเดิมนั้นก็จะหายไป เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะควบคุมนิสัยเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

Source : talentsmart



ไม่มีความคิดเห็น: