20 กรกฎาคม 2559

นักวิทย์ไขข้อสงสัย “ทำไมคนฉลาดถึงมีเพื่อนน้อยกว่าคนทั่วไป”


หลายคนคงเคยตั้งคำถามว่า “ชีวิตที่ดีนั้นเกิดจากอะไร?” ใช่ชีวิตที่รายล้อมไปด้วยมิตรสหาย และครอบครัวหรือเปล่า? หรือว่าจะเป็นชีวิตที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนกันแน่? ผมเชื่อว่าคุณต้องรู้จักใครสักคนที่คุณคิดว่าเขานั้นเป็นคนที่ฉลาดเอามากๆ และคุณคงรู้ดีว่าคนเหล่านี้มักจะมีเพื่อนและเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แล้วทำไมคนฉลาดเขาถึงคบเพื่อนน้อยล่ะ? วันนี้เราจะมาคลายข้อสงสัยนี้กัน

อะไรที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีความสุข

งานวิจัยใหม่ของ The British Journal of Psychology ได้ตั้งคำถามว่า หัวใจหลักของการมีชีวิตที่ดีคืออะไร? โดยนักวิจัยได้ทำการสำรวจคนจำนวนกว่า 15,000 คน ในช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 28 ปี แล้วพบว่าคนที่อยู่ในเขตชุมชนที่มีความหนาแน่นของประชากรมาก จะระบุว่าพวกเขานั้นไม่ค่อยพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตของตัวเองมากนัก นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนที่ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทบ่อยๆ จะระบุว่าพวกเขานั้นมีความสุขเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก

คนฉลาด คือ ข้อยกเว้น

อย่างไรก็ดี มันก็ยังมีข้อยกเว้นอยู่ เพราะความสัมพันธ์ที่กล่าวมานี้กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดในผู้ที่มีไอคิวสูง “โดยความหนาแน่นของประชากรได้ส่งผลกระทบต่อคนฉลาดเป็นอย่างมาก และคนฉลาดมีความพึงพอใจต่ำ ยิ่งกว่าคนทีมีไอคิวต่ำกว่าถึง 2 เท่า” หมายความว่า ยิ่งคุณฉลาด คุณยิ่งไม่ชอบเข้าสังคม คุณจะมีความพึงพอใจกับชีวิตน้อยลงเมื่อต้องเข้าสังคมและพบเจอคนอื่นบ่อยๆ แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คนฉลาดจะโฟกัสไปที่เป้าหมายระยะยาว

คนที่มีไอคิวสูงมักจะไม่ใช้เวลาไปกับการเข้าสังคม นั่นเป็นเพราะคนฉลาดมักโฟกัสไปที่เป้าหมายในระยะยาวพวกเขามีความสนใจและมีแรงผลักดันในการจะสร้างบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่
ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนที่คุณรู้จักที่ได้เข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา หรือได้ทำธุรกิจของตนเอง ในระหว่างที่พวกเขาเดินตามความฝัน พวกเขาได้ลดการพบปะผู้คน เพื่อโฟกัสไปที่การงานและการสร้างฝันของพวกเขาให้เป็นจริง คนฉลาดที่กำลังจะบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ อาจมองว่าการเข้าสังคมเป็นสิ่งรบกวนเขา และคอยทำให้เขาเสียสมาธิในการที่จะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายระยะยาวของเขา ในทางกลับกันก็คือ มันส่งผลต่อความสุขของพวกเขาด้วย
ในระหว่างที่กำลังเดินตามเป้าหมาย คนฉลาดจะเก็บตัวและใส่ใจกับความฝันที่แท้จริงของพวกเขา แทนที่จะออกไปเทียวในคืนวันเสาร์พบปะกับเพื่อนสองสามคน ไม่ใช่ว่าพวกเขามองไม่เห็นคุณค่าของเพื่อน เพียงแต่ในระหว่างที่กำลังมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ พวกเขาอาจมองว่าการเข้าสังคมเป็นการรบกวนสมาธิของเขา

พัฒนาการที่แตกต่างของคนฉลาดในช่วงวิวัฒนาการของสมอง

วิวัฒนาการของสมองมนุษย์นั้นเกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดของบรรพบุรุษในสภาพแวดล้อมแบบทุ่งหญ้าสะวันนา เมื่อก่อนนั้นมนุษย์มีจำนวนประชากรต่ำและใช้ชีวิตแบบ ผู้ล่า-ผู้เก็บเกี่ยว มนุษย์ในสมัยนั้นจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดเพื่อความอยู่รอด และการดำรงเผ่าพันธุ์สืบไป
เมื่อมองมาที่ปัจจุบัน การใช้ชีวิตของมนุษย์ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก และการปฏิสัมพันธ์ก็เป็นไปอย่างง่ายดาย คนฉลาดมักจะเป็นผู้ที่จัดการกับปัญหาต่างๆ ในยุคปัจจุบันได้มากกว่า นั่นหมายความว่า คนฉลาดมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ และรับมือกับเหตุการณ์ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น
เมื่อคุณฉลาด คุณจะยิ่งสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถผสมผสานสัญชาตญาณของบรรพบุรุษให้เข้ากับโลกปัจจุบันได้ง่ายอีกด้วย นี่อาจเป็นเพราะคนฉลาดสามารถละทิ้งความต้องการที่จะปฏิสัมพันธ์ในแบบของสังคมผู้ล่า-ผู้เก็บเกี่ยว เพื่อเลือกที่จะใช้เวลาไปกับการบรรลุเป้าหมาย

คนฉลาดเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ต่างจากคนทั่วไป

คนฉลาดให้ความสำคัญกับเพื่อนและสังคมเช่นเดียวกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแต่ว่าพวกเขาค่อนข้างเรื่องมากเมื่อต้องแบ่งเวลาเพื่อให้ใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รักเพื่อนหรือการสังสรรค์ เพียงแต่ว่าพวกเขาก็รักเป้าหมายส่วนตัวของพวกเขาที่ต้องก้าวไปให้ถึงเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น: