01 พฤศจิกายน 2559

ทำไมเราถึงควรลงทุนไปกับ “ประสบการณ์” มากกว่า “สิ่งของ” ?



หากคุณกำลังพยายามทำงานอย่างหนักในทุก ๆ วัน จนกระทั่งมีเงินเหลือเก็บ คุณควรคิดให้รอบคอบว่าจะใช้เงินเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความสุขให้กับเราได้อย่างไร

พาราดอกซ์ของการครอบครอง

จ่ายเงิน ซื้อของ เครดิท
Dr. Thomas Gilovich ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Cornell ได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งมายาวนานกว่า 20 ปี จนกระทั่งเขาได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและมีน้ำหนักว่า การใช้เงินไปกับการซื้อของนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความสุขที่ได้จากการครอบครองสิ่งของนั้นๆ จะจางหายไปอย่างรวดเร็ว โดย Dr. Gilovich มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนคำกล่าวนี้ถึงสามข้อด้วยกัน ได้แก่
  • เมื่อใช้ไปก็ย่อมเกิดความเคยชิน อะไรก็ตามที่ได้มาในช่วงแรกๆ ย่อมดูเหลือเชื่อและน่าตื่นเต้นเป็นธรรมดา แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะกลายเป็นความเคยชินเสมอ
  • เมื่อได้มาอย่างหนึ่งก็ย่อมอยากได้อย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย การใช้จ่ายในแต่ละครั้ง ย่อมนำไปสู่ความคาดหวังครั้งใหม่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มเคยชินกับของชิ้นเก่า คนเราก็มักจะเริ่มมองหาชิ้นใหม่ที่ดีกว่าเดิม
  • ความอยากมักแฝงตัวอยู่รอบกาย โดยธรรมชาติแล้ว การครอบครองมักจะนำไปสู่การเปรียบเทียบ กล่าวคือ เราอาจรู้สึกตื่นเต้นดีใจกับรถคันใหม่ แต่เมื่อเห็นว่าเพื่อนมีรถคันที่ใหม่และดีกว่า ความตื่นตาตื่นใจก็มักแต่จะลดหลั่นพลันหายไปในทันที
“หนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของความสุข คือ การปรับตัว”
“เราซื้อของเพื่อตอบสนองความสุขของตนเอง แม้จะทำสำเร็จ แต่ก็เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ สิ่งของใหม่ ๆ มักจะดูน่าตื่นตาตื่นใจแค่เพียงในช่วงแรกๆ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะเริ่มปรับตัวปรับใจจนเคยชินกับมันไปเอง” Dr. Gilovich กล่าว
พาราดอกซ์ของการครอบครองก็คือการที่เราคิดไปเองว่าความสุขที่ได้จากการซื้อสิ่งของนั้นจะยืนยาวไปเท่าอายุขัยของสิ่งของนั้นๆ มันอาจฟังดูน่าเชื่อถือที่ว่า การลงทุนไปกับสิ่งของที่สามารถมองเห็น ได้ยิน หรือจับต้องได้นั้น จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย

พลังแห่งประสบการณ์

เขียน ผู้ชาย ทำงาน
Dr. Gilovich พร้อมกับนักวิจัยคนอื่นๆ ได้ค้นพบว่า แม้ประสบการณ์จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันก็สามารถทำให้ความสุขของเรายืนยาวยิ่งกว่าสิ่งของ โดยให้เหตุผลไว้ดังนี้
ประสบการณ์จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเรา กล่าวคือ แม้ว่าตัวของเราจะไม่ใช่ ‘สิ่งของ’ ของเรา แต่ก็เป็น ‘แหล่งสะสม’ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้เห็น ได้ทำ รวมถึงสถานที่ที่เคยได้ไปเยือน ดังนั้น การลงทุนซื้อสิ่งของจะไม่มีทางเปลี่ยนสิ่งที่คุณเป็นได้เท่ากับการลงทุนเพื่อไปกับประสบการณ์ เช่น การปีนเขาหรือเดินสำรวจเส้นทางธรรมชาติบนเทือกเขาต่างๆ
“ประสบการณ์ คือ ส่วนสำคัญของตัวเรายิ่งกว่าสิ่งของที่จับต้องได้”
“คุณอาจจะชอบสิ่งของที่ซื้อมามาก หรืออาจแม้กระทั่งคิดว่าเอกลักษณ์ของตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งของเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง แต่ถึงอย่างไร พวกมันก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคุณจริงๆ ในทางตรงกันข้าม ประสบการณ์จะเป็นหนึ่งเดียวกับตัวคุณเสมอ เพราะเราต่างก็เป็นผลผลิตของประสบการณ์ทั้งหลายมารวมกันนั่นเอง” Gilovich กล่าว
การเปรียบเทียบไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป ในโลกนี้แทบจะไม่มีใครที่เปรียบเทียบประสบการณ์ในแบบเดียวกับที่ทำกับสิ่งของ จากงานวิจัยหนึ่งของมหาวิทยาลัย Harvard ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับคำถามว่า จะเลือกเงินเดือนสูงๆ แต่ก็น้อยกว่าเพื่อนร่วมงาน หรือ เลือกเงินเดือนน้อยๆ แต่ก็มากกว่าเพื่อนร่วมงาน? หลายคนลังเลในคำตอบของตนเอง แต่เมื่อคำถามเดียวกันนี้ได้เปลี่ยนจากเงินเดือนเป็นวันหยุดแทน ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะมีวันหยุดยาวมากกว่า แม้ว่าเพื่อนร่วมงานจะได้วันหยุดนานกว่าก็ตาม นั่นเป็นเพราะการวัดค่าเพื่อเปรียบเทียบประสบการณ์นั้นเป็นไปได้ยากนั่นเอง และแน่นอนว่าการที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ ย่อมทำให้พวกเขามีความสุขกับมันมากกว่าเป็นธรรมดา
ความคาดหวังเป็นสิ่งสำคัญ Dr. Gilovich ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความคาดหวังเช่นกัน และพบว่า ความคาดหวังจากประสบการณ์จะนำไปสู่ความตื่นเต้นและความสนุกสนาน ในขณะที่ความคาดหวังจากการได้ครอบครองสิ่งของจะนำไปสู่ความอึดอัดใจ เนื่องจากประสบการณ์ใหม่ๆ มักให้ความสนุกสนานนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มวางแผน ไปจนถึงวินาทีแห่งความทรงจำที่คุณจะจดจำไปตลอดกาล
ประสบการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี) คุณเคยสั่งซื้อของผ่านเว็บไซต์ แล้วได้ของที่ไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวังไว้ไหม? เมื่อคุณซื้อมาแล้ว มันจะกลายเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนถึงความผิดหวังของคุณไปตลอด และแม้ว่าการใช้จ่ายครั้งนั้นจะเป็นไปอย่างที่หวัง ความรู้สึกในแง่ลบก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่ดี เช่น “โอเค มันเจ๋งมาก แต่บางทีอาจจะไม่ได้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปก็ได้นะ” ในทางตรงกันข้าม สิ่งนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับประสบการณ์ได้เลย เนื่องจากการที่ประสบการณ์เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ จึงทำให้เราเห็นคุณค่าของมันอยู่เสมอ และคุณค่านั้นก็มักจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันเวลาผ่านไปด้วย

กล่าวโดยสรุป

Dr. Gilovich กับเพื่อนนักวิจัยของเขาไม่ใช่คนเพียงกลุ่มเดียวที่เชื่อว่าประสบการณ์เป็นสิ่งที่สามารถให้ความสุขเราได้มากกว่าสิ่งของ Dr. Elizabeth Dunn แห่งมหาวิทยาลัย British Columbia เองก็ได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน และได้นิยามความสุขชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากการซึ้อสิ่งของว่า “แอ่งน้ำแห่งความสุข” ซึ่งหมายความว่า เมื่อเวลาผ่านไป ความสุขประเภทนี้ก็จะระเหยหาย ทำให้แอ่งน้ำนั้นว่างเปล่าจนเราเริ่มรู้สึกถึงความต้องการที่มากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าสิ่งของจะอยู่ยืนยาวกว่าประสบการณ์ แต่ความทรงจำที่อยู่ยืนยาวกลับเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับใครหลายคนมากกว่า
“หากคุณอยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จงผูกชีวิตไว้กับจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่ผูกไว้กับคน หรือสิ่งของ” — อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
Source : talentsmart

ไม่มีความคิดเห็น: