27 พฤศจิกายน 2559

งานวิจัยเผย “คนชอบคิดมาก” มักเป็นคนฉลาดและมีความคิดสร้างสรรค์



ในสังคมสมัยใหม่ การแปะป้ายตัดสินคนอื่นว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ โดยมองเพียงแค่พฤติกรรมและลักษณะนิสัยของเขา กลายเป็นเรื่องที่ทำกันทั่วไปเป็นปกติ เนื่องจากสังคมสมัยนี้มีทั้ง คนชอบเก็บตัว(Introvert) คนชอบเข้าสังคม(Extrovert) คนที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างสองประเภทนี้ (Ambivert) คนขี้กังวล และอื่นๆ อีกตั้งมากมาย
และสำหรับคนที่ชอบวิตกกังวลนั้น มีงานวิจัยที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน เปิดเผยว่า การมีนิสัยขี้กังวลและคิดมาก ทำให้คนเหล่านี้มีความคิดสร้างสรรค์และความคิดที่พัฒนาไปไกลกว่าคนอื่นมาก
โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย King’s College ในกรุงลอนดอน ก็ได้ให้ความเห็นไว้เช่นกันว่า อาการวิตกกังวลเกินไปนั้น มีความสัมพันธ์กับการมีจินตนาการที่สูงด้วย

การวิตกกังวล เป็นต้นกำเนิดของปัญญา

คิดมาก
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่วนมาก เริ่มมาจากการที่มนุษย์เรากังวลว่าจะอดอยากในอนาคต กลัวถูกเผ่าอื่นโจมตีและขโมยข้าวของไป ไม่ก็กลัวว่าเทพเจ้าจะพิโรจน์ต่อการกระทำของพวกตน และอีกมากมาย สิ่งที่ทำให้คนคิดมากแตกต่างจากคนอื่นๆ ก็คือ จินตนาการ นั่นเอง พวกเขาเห็นหนทางในการเอาตัวรอดจากอันตรายและการพัฒนาตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น การรักษาความปลอดภัยของบ้าน ในความคิดของคนส่วนใหญ่มักเป็นการล็อคประตูหน้าบ้านและหน้าต่างชั้นแรกก็เพียงพอแล้ว ส่วนคนที่ห่วงความปลอดภัยขึ้นมาอีกหน่อยก็อาจวางไม้เบสบอล ไม้กอล์ฟไว้ใกล้ๆ ประตู หรือไม่ก็เตรียมปืนเก็บไว้ แต่คนที่ชอบวิตกกังวลจะไม่ได้คิดถึงแค่เรื่องอันตรายจากภายนอกเท่านั้น เขาจะคิดเผื่อว่า แล้วถ้าเด็กอาจจะไปเจอปืนเข้าและบาดเจ็บ หรือ มีโจรขโมยปืนไปตอนไม่มีคนอยู่บ้านล่ะ! จะทำยังไง? นั่นทำให้คนประเภทนี้หาวิธีเก็บอาวุธไว้ในที่ปลอดภัยจากคนอื่นมากที่สุด
แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เกิดเรื่องอันตรายร้ายแรงอะไรขึ้น แต่การมีจินตนาการสูงเช่นนี้ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่างๆ มากขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือได้ด้วย

จินตนาการเสมือนจริง ช่วยปกป้องมนุษย์จากภัยอันตรายของธรรมชาติและสัตว์ป่า

ในยุคสมัยใหม่ คนที่ชอบวิตกกังวลจะสรรหาวิธีสร้างสรรค์มากมายเพื่อจัดการกับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่เรื่องงาน และเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง แต่ในยุคโบราณนั้น กลไกการเอาตัวรอดทำให้บรรพบุรุษของเราสร้างจินตนาการเสมือนจริงขึ้นมา แม้ในฤดูร้อนที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนไม่ขาดแคลนอาหาร พวกเขาก็ยังจินตนาการไปถึงการขาดแคลนอาหาร การต้องการที่พักอาศัย ความอบอุ่น อุณหภูมิที่จะเพิ่มสูงขึ้นในฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามา
ดังนั้น พวกเขาจึงต้องหาอาหารเพื่อกักเก็บไว้สำหรับฤดูหนาว แล้วคิดวิธีถนอมเนื้อสัตว์และพืชผักเหล่านั้นขึ้นมา นี่ถือเป็นกลไกการเอาตัวรอดด้วยการจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

นักคิดและศิลปินระดับโลกมากมาย มีนิสัยคิดมากและขี้กังวล

ดร. อดัม เพอร์คินส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ได้กล่าวไว้ว่า ผู้คนที่ร่าเริงและมองโลกในแง่ดีจะไม่มานั่งครุ่นคิดเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เราจะสังเกตเห็นว่า เหล่านักคิดหรือบุคคลอัจฉริยะมากมายมักดูไม่มีความสุขเลย พวกเขามักครุ่นคิดวิตกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแปลว่าพวกเขาค่อนข้างมีความสเถียรทางอารมณ์ที่น้อยกว่าคนทั่วไป ลองนึกถึงชีวิตของไอแซค นิวตัน, ชาร์ลส์ ดาร์วิน, วินเซ็นต์ แวน โกะห์ หรืออย่าง จอห์น เลนนอน ที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า ‘Genius is pain’ หรือ ‘ความอัจฉริยะคือความเจ็บปวดอย่างหนึ่ง’ ซึ่งเป็นคำพูดที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความคิดสร้างสรรค์และความไม่เสถียรทางอารมณ์ได้ดีที่สุด
มันไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่คนเราจะทดลองฝึกฝนจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา และเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำหากมันช่วยทำให้เราได้ลองฝึกคิดอะไรต่างๆ ให้รอบคอบยิ่งขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่าคุณเองก็อาจจะค้นพบแนวคิดหรือไอเดียอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาก็ได้

Source : LifeHack

ไม่มีความคิดเห็น: