“อะไรที่ทำให้คนเรากลายมาเป็นผู้นำที่ดีได้?”
ในแนวคิดเชิงธุรกิจเรามักจะพบกับคำถามแบบนี้อยู่เป็นประจำ มีหนังสือจิตวิทยาตั้งมากมายที่มีการตีพิมพ์เกี่ยวกับความเป็นผู้นำ แต่น้อยเล่มนักที่จะให้คำนิยามคำว่า “ความเป็นผู้นำ” ได้อย่างแท้จริง ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า ความเป็นผู้นำนั้น แท้จริงแล้วเป็นกันได้อย่างไร?
ความเป็นผู้นำไม่ได้เกิดจากความอาวุโส หรือตำแหน่งภายในองค์กร
เป็นความเข้าใจผิดที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความเป็นผู้นำภายในองค์กรนั้นต้องเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงๆ แต่อันที่จริงแล้ว ตำแหน่งก็เป็นเพียงตำแหน่ง ๆ หนึ่งเท่านั้น การมีความเป็นผู้นำไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะคุณได้เลื่อนตำแหน่งงานที่สูงขึ้น แต่มันล้วนเกิดขึ้นจากตัวคุณเองทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะทำงานในตำแหน่งใดก็ตาม
ความเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับตำแหน่ง
เหมือนกับข้อด้านบน เพียงแค่คุณได้รับตำแหน่งที่สูงกว่า ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นผู้นำได้ เรามักจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำขององค์กร แต่แท้จริงแล้วทุกคนสามารถเป็นผู้นำที่ดีได้โดยไม่ต้องมียศตำแหน่งใดๆ เลย อย่างเช่น เป็นผู้นำในงานที่ทำ เป็นผู้นำชุมชนที่อาศัยอยู่ หรือแม้แต่เป็นผู้นำที่ดีของครอบครัว เป็นต้น
ความเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องทำเหมือนผู้นำคนอื่นๆ
เมื่อพูดถึงคำว่า “ผู้นำ” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง การยืนอยู่เหนือบุคคลอื่น การเป็นคนที่สามารถสั่งให้ลูกน้องทำนู่นนี่นั่นได้ ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ แต่อย่าลืมว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว การเป็นผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่ผู้นำคนอื่นๆ ทำ
บางคนอาจชี้นิ้วสั่งลูกน้องให้ทำสิ่งต่างๆ โดยที่เขาไม่ต้องทำอะไรเลย แต่บางคนก็อาจเป็นคนที่ก้าวไปพร้อมกับลูกน้อง เป็นทีมเดียวกันและช่วยแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าแบบหลังได้ใจลูกน้องไปเต็มๆ ดังนั้น การเป็นผู้นำที่ดีจึงต้องสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเองและดีต่อผู้ตามด้วย
ความเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องมีทั้งการบริหารและการปกครอง
ข้อนี้สำคัญมาก คำว่า “ความเป็นผู้นำ” และ “การจัดการ” ไม่ใช่คำๆ เดียวกัน เช่นสมมติว่าคุณมีลูกน้อง 15 คน แน่นอนว่าคุณจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดีระดับหนึ่ง และในฐานะผู้จัดการคุณจะต้องมีการวางแผน คำนวณ ติดตาม ประสานงาน แก้ปัญหา ฯลฯ ซึ่งผู้บริหารมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสิ่งเหล่านี้
แล้วถ้าเป็นผู้นำละ? ผู้นำที่ดีจะเคารพในเสียงและความคิดเห็นส่วนใหญ่ของลูกน้อง แล้วจึงค่อยพิจารณาว่าสิ่งไหนต้องมีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม
มาดูคำนิยามของคำว่า “ผู้นำ” ของเหล่าคนประสบความสำเร็จกัน
PETER DRUCKER กล่าวว่า “คำนิยามเดียวของผู้นำ ก็คือ คนที่มีผู้ตาม”
จริงหรือ? นี่เป็นนิยามที่ยังไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก ยกตัวอย่าง หัวหน้ากองกำลังทหารมีกำลังพลลูกน้องอยู่ 200 นาย นายทหารคนนี้ไม่เคยออกจากห้องทำงานมาเจอหรือพูดคุยกับลูกน้องเลย มีเพียงแต่คำสั่งที่สั่งผ่านนายทหารระดับรองลงมาแค่นั้น และบางทีลูกน้องก็ทำผิดคำสั่งอยู่บ้าง ถามว่าหัวหน้าคนนี้เป็นผู้นำจริงไหม หรือแท้จริงแล้วเขาเป็นเพียงแค่คนสั่งการเท่านั้น
WARREN BENNIS กล่าวว่า “ความเป็นผู้นำ คือคนที่สามารถเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้กลายเป็นความจริง”
ดูเหมือนว่าสิ่งที่เบนนิสพูด ก็ยังไม่ใช่เท่าไหร่นัก ยกตัวอย่าง คุณมักนึกถึงการลงมือทำสวนสวยๆ (วิสัยทัศน์) และคิดว่าผักสวนครัวที่คุณปลูกอยู่นั้นมันจะต้องเป็นไปได้สวยแน่ๆ แต่ถามว่าคุณเป็นผู้นำไหม? ก็ยังไม่ใช่ ไม่มีสาเหตุอะไรที่บ่งชี้ว่าคุณเป็นผู้นำเลย
BILL GATES กล่าวว่า “ในศตวรรษข้างหน้า ผู้นำคือคนที่จะสร้างผู้นำคนอื่นๆ”
ดูเหมือน คำว่า “ผู้นำคนอื่นๆ” ของ บิลล์ เกตส์ ก็ยังไม่ครอบคลุมซะทั้งหมด
JOHN MAXWELL กล่าวว่า “ความเป็นผู้นำ คือการมีอิทธิพลเหนี่ยวนำผู้อื่น ไม่มากไป แต่ก็ไม่น้อยไป”
แมกซ์เวลล์นิยามไว้ได้ดีมาก แต่ยังไม่ครบซะทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการ หรือ หัวหน้างาน ย่อมมีอิทธิพลต่อการทำงานของลูกน้องได้เช่นกัน แน่นอนว่าบุคคลทั้งสองมีอิทธิพลในการเหนี่ยวนำบุคคลอื่นๆ แต่การเหนี่ยวนำของบุคคลทั้งสองก็ไม่ใช่สิ่งที่บอกถึงความเป็นผู้นำแต่อย่างใด
แล้วอะไรคือคำนิยามที่แท้จริงของ “ความเป็นผู้นำ” ?
ความเป็นผู้นำ คือ กระบวนการเหนี่ยวนำทางสังคมโดยอาศัยความสามารถ ความพยายาม และกำลังใจที่อยู่ในตัวบุคคลอื่นๆ เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด
และอย่าลืมว่า…
- ความเป็นผู้นำ เกิดจากการมีอิทธิพลทางสังคม ไม่ใช่อิทธิพลในการใช้กำลัง
- ความเป็นผู้นำ ย่อมต้องมีผู้ตาม แต่ไม่ได้หมายถึงผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง
- ยังมีสิ่งที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกมากของคุณสมบัติด้านอื่นๆ ในตัวบุคคล ที่ส่งผลให้เกิดภาวะความเป็นผู้นำ
- การบรรลุเป้าหมายสูงสุดเกิดขึ้นเองไม่ได้ มันต้องมีการวางแผนมาก่อนแล้ว
ความเป็นผู้นำ คือสิ่งที่มีผลต่อการลงมือทำ อย่ามัวเอาแต่หาคำนิยามของมัน เพราะไม่มีใครที่จะมอบความเป็นผู้นำให้คุณได้ นอกจากตัวคุณเองจะสร้างมันขึ้นมา
Source : talentsmart
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น